หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปรัชญาไทย (Thai Philosophy)



ปรัชญาไทย  (Thai  Philosophy)

โดยทั่วไปความหมายของคำว่า  ปรัชญา  มีความหมายกว้าง ๆ  อยู่สองความหมาย  คือ  ความหมายตามทางนิรุติศาสตร์หรือความหมายตามตัวอักษร  ซึ่งหมายถึงคำปรัชญาที่ใช้แทนคำว่า  “Philosophy”  ในภาษาอังกฤษที่มีความหมาย  ความอยากในความรู้  ความรักในความรู้  อันหมายถึงความอยากรู้ใคร่ที่จะรู้  มีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาคำตอบจากประสบการณ์ของมนุษย์  ส่วนอีกความหมายหนึ่งเป็นความหมายตามลักษณะของการใช้  ซึ่งหมายถึง  แนวความคิดความเชื่อ  คติ  วัฒนธรรมและค่านิยม  เป็นต้นของมนุษย์  แต่แนวความคิดหรือความนึกคิดต่าง ๆ  อันก่อตัวเป็นปรัชญาดังกล่าวนั้น  ถ้าไม่มีการพัฒนาให้เป็นระบบชัดเจน  ย่อมมีลักษณะกว้างหรือผิดเผินเกินไป  จนไม่อาจแยกออกจากความเชื่อถือทั่ว ๆ  ไป  อันไม่มีระบบไม่ชัดเจนอื่น ๆ  ดังนั้น  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงลักษณะของปรัชญาไทย  ให้มีความหมายชัดเจนซึ่งก็ไม่มีวิธีใดดีไปกว่าการนำเอาหลาย ๆ  ลักษณะอันปรากฏชัดเจน,  กลมกลืนกัน,  ส่งเสริมกันและกัน  และไม่ขัดแย้งกันมาเสมอ  ซึ่งจะทำให้การมองเห็นงานและหน้าที่ของนักปรัชญา  ดังต่อไปนี้
๑.  ปรัชญาคือทัศนะคติและท่าทีความรู้สึกเฉพาะตอนของบุคคลในบุคคลหนึ่งที่มีต่อโลก  และชีวิต  (Philosophy is a personal attitude toward life and the universe)  คำนิยามนี้หมายความว่าปรัชญาเริ่มต้นจากความประหลาดใจ,  สงสัย,  และความอยากรู้อยากเห็น,  จนเติบโต  ออกมาจากการรับรู้ต่อปัญหาต่าง ๆ  ของชีวิตและโลก  ซึ่งพัฒนาขึ้นตามลำดับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
๒.  ปรัชญาคือกรรมวิธีค้นคิด  หรือการคันคว้าด้วยการใช้เหตุผล  (Philosophy  is  a method  of  reflective  thinking and  resound  inquirer)  ข้อนี้อาจเทียบได้กับโยนิโสมนสิการของพระพุทธศาสนา  ซึ่งมีลักษณะมองปัญหาและข้อเท็จจริงอย่างมีวิจารณญาณตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ทุกแง่ทุกมุม
๓.  ปรัชญาคือความพยายามที่จะมองให้เห็นภาพทั้งหมด  (Philosophy  is  an attempt  to gain  a  view  of the  whole)  นี่คือการรวบรวมบทสรุปของศาสตร์ต่าง ๆ  และประสบการณ์ของมนุษย์โดยจัดให้เป็นระบบหรือโลกทัศน์กลมกลืนกันทั้งหมด
๔.  ปรัชญาคือการวิเคราะห์ภาษาตามหลักตรรกวิทยา  และการแจกแจงความหมายของคำและมโนภาพ  (Philosophy  is  the  Logical  analysis  of  Language  and  the  classification  of  the  meaning  of  words  and  conceals)  นี่คือหน้าที่ของปรัชญาซึ่งนักปรัชญาบางคนเห็นว่าเป็นงานหนักทัศนะนี้เกิดขึ้นไม่นานนัก  อันเนื่องมาจากอิทธิพลของวิทยาศาสตร์
๕.  ปรัชญาคือกลุ่มของปัญหา  และทฤษฎีในการแสวงหาคำตอบคือปัญหาเหล่านั้น  (Philosophy  is  a  group  of  problem  as  well  as  theories  about  the  solution  of  these  problems)  นี่คือความสังสัยของมนุษย์  และความพยายามที่จะแสวงหาคำตอบปัญหาบางอย่างในอดีตอาจได้รับคำตอบแล้ว  บางปัญหาอาจได้คำตอบชั่วคราวและอีกหลาย ๆ  ปัญหายังคงเป็นปัญหา  โลกแตก  ต่อไป[๑]

ปรัชญาไทยมีจริงหรือไม่
ควรพิจารณาคำว่า  ปรัชญา  อีกครั้งตามความหมายที่เป็นสากลนั้นหมายถึงอะไร  มิฉะนั้น  จะเกิดปัญหาในภายหลังว่าอย่างไร  จึงจะเรียกว่า  ปรัชญา  ขอเสนอความหมายที่มีปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  ๒๕๒๕  ได้ให้ความหมายไว้ว่า  วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง  ตามความหมายนี้มิได้กล่าวถึงความเป็นระบบแห่งความคิด  ด้วยสาเหตุนี้  แนวความคิดใดที่กล่าวถึงความรู้และความจริงก็น่าจะเป็นปรัชญาได้ทั้งนั้น  ถึงแม้ว่าความรู้นั้นอาจจะไม่มีการแสดงออกมาซึ่งสัญลักษณ์ความเป็นระบบเลย  เช่น  กระแสแนวความคิดอันเป็นภูมิปัญญาของคนไทย  ซึ่งเป็นชาติที่เก่าแก่ชาติหนึ่งที่มีนักคิดและนักแสวงหาความรู้ความจริงที่เกี่ยวกับโลกและชีวิต  เป็นจำนวนไม่น้อยนักคิดเหล่านี้เราอาจยกย่องท่านให้เป็นนักปราชญ์ได้ในฐานะที่เป็นผู้แสวงหาคำตอบเกี่ยวกับอันติมสัจจะ  แล้วได้แสดงความรู้นั้นออกมาอย่างเหมาะสมตามสภาพการณ์ของแต่ละยุค  เช่น  อยู่ในลักษณะของนิทานพื้นบ้าน  ตำนาน  วรรณกรรม  และศิลปกรรม  เป็นต้น  อันเป็นผลผลิตซึ่งเกิดจากแนวความคิดสร้างสรรค์ของท่านเหล่านั้น  ได้ให้คำตอบที่น่าพึงพอใจสำหรับคนในยุคนั้น ๆ  และสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน  จนหล่อหลอมคนไทยหลายเผ่าและคนชาติอื่น ๆ  ที่เข้ามาอาศัยในภายหลังให้เป็นเนื้อเดียวกัน  เกิดจิตสำนึกของความเป็นคนไทยร่วมกัน  ดั้งนั้น  ปรัชญาไทยจึงแตกต่างปรัชญาตะวันตกโดยทั่ว ๆ  ไป  ในประเด็นที่ไม่ใช่การคิดเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นเท่านั้น  แต่ต้องนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน  ในลักษณะเดียวกันกับปรัชญาระบบอื่น ๆ  ที่ปรากฏตามปรัชญาตะวันออกทั่วไป  ซึ่งลักษณะนี้เราน่าจะเรียกว่า  ปรัชญาชีวิต
อีกประการหนึ่ง  ปรัชญาไทยยังมีคุณลักษณะเด่นที่น่าสนใจเป็นพิเศษ  คือ  มีลักษณะของการประนีประนอมเสมอ  ไม่มีลักษณะของการโจมตีกัน  ถึงจะได้รับอิทธิพลจากศาสนาของต่างชาติ  แต่ก็รู้จักนำมาปรับใช้ประสมไปกับความคิดดั้งเดิม  ของบรรพบุรุษ  ความประนีประนอมจึงเป็นอีกลักษณะหนึ่งของปรัชญาไทย
แนวความคิดอันเป็นภูมิปัญญาในลักษณะตามที่กล่าวมานั้น  บรรพบุรุษของคนไทยได้ช่วยกัน  สร้างเสริมเติมแต่งและสั่งสมกันต่อ ๆ  มา  และได้ถ่ายทอดให้แก่อนุชนรุ่นหลัง  ประเด็นปัญหาที่นักปราชญ์ไทยให้ความสนใจค้นคว้าและแสวงหาความจริงกันมาตลอดนั้น  อยู่ในขอบเขตของความรู้ที่เกี่ยวกับโลก  และชีวิต
ซึ่งพอจะสามารถสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้  คือ
๑.  ใครเป็นผู้สร้างโลก
๒.  อันติมาสัจจ์คืออะไร
๓.  ธรรมชาติเกิดขึ้นได้อย่างไร
๔.  ชีวิตคืออะไร
๕.  อะไรเป็นสาเหตุให้ชีวิตเกิดมา
๖.  ชีวิตดำเนินไปอย่างไร
๗.  อะไรเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต
๘.  ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชีวิตมีความสุข
๙.  ชีวิตหลังจากตายมีหรือไม่  และถ้ามี  ชีวิตหลังความตายแล้วชีวิตเป็นอย่างไร  และจะสิ้นสุดเมื่อใด
ประเด็นของปัญหาตามที่กล่าวมานี้  ส่วนใหญ่นักปราชญ์ไทยได้พยายามแสดงหาคำตอบตลอดมา  และคำตอบเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลัก  ๓  ประการ  คือ
๑.  กระแสความคิดดั้งเดิมก่อนได้รับนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ
๒.  กระแสความคิดที่มีศาสนาพราหมณ์เป็นพื้นฐาน
๓.  กระแสความคิดที่มีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน
กระแสแนวความคิดนี้เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะคันหาความรู้เกี่ยวกับโลกและชีวิต  จึงได้สังเกตเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่อาศัยดำรงชีวิตอยู่  แล้ก็พยายามหาคำตอบในระยะเวลานั้นคนไทยยังไม่มีศาสนาที่เป็นระบบ  มีแต่ความเชื่อถือในพลังอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบบุคลาธิษฐาน  อันได้แก่แดน  (พระยาแดน)  และผี  (วิญญาณ)  ฉะนั้นหลายคนอาจจะมองได้ว่า  มันเป็นเพียงความเชื่ออย่างหนึ่งเท่านั้น  แต่พิจารณาถึงสิ่งที่ซ้อนเร้นอยู่ในความเชื่อเหล่านั้น  จะมองเห็นกระแสแนวความคิดทางปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาว่าโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร  มีใครเป็นผู้สร้างและจะดำเนินอย่างไรให้มีความสุข
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถศึกษาได้จากนิทานพื้นบ้านและตำนานธรรมที่กล่าวถึงเกี่ยวกับการสร้างโลกและมนุษย์  อาจจะกล่าวได้ว่านี้คือแนวความคิดทางอภิปรัชญาของคนไทยในยุคดั้งเดิม  เช่น  ตำนานพื้นบ้านเรื่องปู่สังกะสาย่าสังกะสี  (ปู่สาย่าสี)  ซึ่งเล่ากันมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  มีเรื่องเล่าว่า  โลกที่เราอาศัยอยู่นี้  เป็นแผ่นดินโล่งเตียน  มีทะเลเวิ้งว้างว่างเปล่า  ไม่มีพืช,  สัตว์  ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  และดวงดาว  มีแต่ความเงียบสงัดและความมืด  แดนผู้เป็นหัวหน้าของแดนทั้งหลายเห็นว่า  โลกน่าจะมีสีสันสดชื่นมากกว่าที่เป็นอยู่นี้  จึงมีพระบัญชาให้ปู่สังกะสาและย่าสังกะสี  ซึ่งเป็นแดนด้วยกัน  นำลูกน้ำเต้าวิเศษลงมายังโลกเพื่อสร้างมนุษย์และสรรพสิ่ง  เมื่อปู่สังกะสาย่าสังกะสีลงมาถึงพื้นโลกแล้วก็ทุบลูกน้ำเต้าแตกออกปู่กับย่าจึงนำเอาเม็ดน้ำเต่าวิเศษนั้นหว่านขึ้นไปบนฟ้าและบนแผ่นดิน  จึงทำให้เกิดดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  ดวงดาวภูเขา  แม่น้ำ  และต้นไม่ออกดอกบานสะพรั่ง  แต่ไม่ได้เกิดมนุษย์และสัตว์  ปู่และย่าจึงตกลงกันใช้เวลาประมาณ  ๑๐๐  ปี  สร้างมนุษย์และสัตว์โดยใช้ดินเหนียวมาปั้นรูปคนแต่ละเพศ  เสร็จแล้วได้ให้ชีวิตวิญญาณและพลังแก่พวกเขา  และได้ให้พวกเขาจับคู่เป็นสามีภรรยากันออกลูกหลานต่อมา  แต่ครั้งแรกนั้นยังไม่มีภาษาใช้พูดกัน  ปู่และย่าจึงได้สร้างพวกเขาและตั้งชื่อพวกเขาว่ามนุษย์  จากนั้นปู่และย่า  ได้ใช้ดินเหนียวปั้นรูปสัตว์และแมลง  โลกที่เงียบเหงาก็เริ่มมีชีวิตชีวาขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน  เรื่องในทำนองเดียวกันนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีตำนานเรื่องขุนบรม  ซึ่งกล่าวไว้ว่ามนุษย์และสรรพสิ่งได้เกิดมาจากลูกน้ำเต้าใหญ่  ๒  ผล  มนุษย์และสัตว์ได้ออกมาจากรอยรูที่แดนได้เจาะไว้  และรูที่เจาะต่างกัน  ผู้ที่มีผิวดำได้ออกจากรู้ที่แดนใช้สิ่วเจาะน้ำเต้า  ต่อมาขุนบรมผู้เป็นต้นวงศ์กษัตริย์ได้จัดกลุ่มชั้นวรรณะของมนุษย์โดยดูจากผิดเป็นทาส  กรรมกร  พวกผิวขาวจัดให้อยู่ในกลุ่มขั้นสูงได้แก่  เผ่าไทยเลียน  ไทยเลิง  ไทยลอ  นี้คือความเป็นมาของการจัดสังคม  เพื่อให้เกิดความสงบสุขของคนไทยดั้งเดิมที่กล่าวมาพออาจสรุปได้ว่า  แดนก็คือพวกเทพเจ้า  หรือเทวดาที่มีฤทธิ์  ซึ่งจัดอยู่จำพวกผีประเภทหนึ่งเพราะผีก็คือสิ่งที่ไม่สามารถเห็นและจับต้องได้  มีฤทธิ์อำนาจ  ดลบันดาลสารพัดอย่าง  ผีมีทั้งชั้นต่ำและชั้นสูงได้แก่พวกเปรต  อสุรกายและพวกวิญญาณต่าง ๆ  จะอย่างไรก็ตาม  เรื่องเกี่ยวกับแดนและผีนี้  เป็นเรื่องแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ที่มีต่อปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ  และได้พยายามที่จะอธิบายเหตุนั้น ๆ  โดยอาศัยประสบการณ์และสภาพสิ่งแวดล้อมเท่าที่มีอยู่มาเป็นเครื่องสนับสนุนเหตุผลที่จะอธิบายแนวความคิดดังกล่าวแล้วถึงแม้คำตอบนี้ไม่เป็นที่น่าพอใจของคนทั่วไปโดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์  และเนื้อหาเรื่องราวอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมากกว่าเกิดขึ้นจริง  แต่จุดนี้ไปสำคัญเท่ากับข้อคิดหรือสาระที่แฝงอยู่ซึ่งไม่ต่างไปจากนิยายทั้งหลายของพวกอัตถิภาวนิยม  ที่ไม่ใคร่จะให้ความสนใจว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่  จะสนใจแต่สาระที่แฝงอยู่เท่านั้นว่า  มันได้ทำให้เราได้เกิดปัญญาอะไรบ้าง  และปัญญานั้นจะช่วยแก่ไขชีวิตของคนให้ดีขึ้น  และมีความสุขมากขึ้นได้อย่างไรและอีกประการหนึ่งยังสามารถแสดงให้คนเห็นถึงความกล้าหาญทางความคิด  และพยายามที่จะเรียนรู้ชีวิตรอบตัวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน  จึงแสวงหาความรู้และค้นหาคำตอบเท่าที่สิ่งแวดล้อมจะอำนวยให้ได้เพื่อเป็นพื้นฐานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าต่อไปนอกจากเรื่องแดนและผีแล้ว  เรื่องขวัญยังเป็นอีกกระแสแนวความคิดหนึ่งที่มีความเก่าแก่เช่นกัน  แต่การอธิบายในเรื่องขวัญนั้นยังได้ความสับสนอยู่พอสมควร  เพราะมีผู้อธิบายในลักษณะที่เป็นพลัง  ซึ่งเป็นพลังธรรมชาติที่ไม่มีตัวตน  แต่มีอำนาจบันดาลให้เกิดสุขและทุกข์แก่มนุษย์ได้  แต่โดยทั่ว ๆ  ความเชื่อในเรื่องขวัญนั้นมักจะมีการอธิบายที่ออกมาในรูปของบุคลาธิษฐานเหมือนกับวิญญาณที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน  ถ้าขวัญหนีไปหรือหายไปอาจทำให้เกิดเหตุร้ายแก่เจ้าของร่างได้  จึงเป็นที่มาของประเพณีและวัฒนธรรมของการเรียกขวัญผูกขวัญและทำขวัญ  ความหมายของขวัญตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน  ๒๕๐๕  มีว่า  ขวัญ  หมายถึงผมหรือขนที่ขึ้นเวียนเป็นก้อนหอย  มิ่ง,  มงคล,  สิริ,  ความดี  เช่นขวัญช้าง  ขวัญเรือน  สิ่งที่ไม่มีตัวตนนิยมกันว่า  มีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา  จิตใจมั่นคงถ้าตกใจหรือเสียขวัญ  ขวัญก็จะออกจากร่างไปเสีย  ซึ่งเรียกว่า  ขวัญหาย  ขวัญหนี  ขวัญบิน  ในเรื่องแดน  ผี  และขวัญนี้  ถ้ามองในแง่มุมหนึ่ง  เรื่องนี้เป็นความเชื่อมากกว่าปรัชญา  แต่ถ้าหากมองอีกในแง่มุมหนึ่ง  โดยพิจารณาเฉพาะคำว่าแด่น,  ผี  และขวัญแล้วก็จะเห็นว่า  มีปัญหาไม่ต่างไปจากปัญหาที่ว่าวิญญาณคืออะไร  จิตคืออะไร  ผีคืออะไร  และมีจริงหรือไม่  ปัญหาเหล่านี้ปัจจุบันยังถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่  แต่ถ้ามาพิจารณาสิ่งที่แฝงอยู่ในความเชื่อเหล่านี้  จะเห็นความพยายามสูงมากของคนโบราณ  ที่จะค้นหาความรู้และความจริงที่เกี่ยวกับโลกและชีวิต  โดยได้ตั้งข้อสมมติฐานแล้วผูกเรื่องเป็นนิยายหรือนิทานอันเกี่ยวกับโลกและชีวิต  เป็นเรื่องเล่าสืบ ๆ  กันมาแบบปากต่อปาก  ซึ่งบางเรื่องอาจจะมีจริยธรรมและศีลธรรมสอดแทรกอยู่ด้วย  เพื่อจะได้เป็นอนุสติเตือนใจให้ประพฤติดีประพฤติชอบในสังคมนอกจากที่กล่าวแล้วยังมีแนวความคิดที่สำคัญอันมีค่าควรแก่การศึกษา  และควรยกย่องได้ว่า  เป็นปรัชญาไทยอีกรูปแบหนึ่งในยุคดั้งเดิม  อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนโบราณที่รู้จักวิธีสอนจริยธรรมและศีลธรรมแก่ลูกหลาน  แต่ออกมาในรูปลักษณะของคำคมและสุภาษิต  ที่คนโบราณนิยมคิดขึ้นมาเพื่อเป็นคติเตือนใจให้เป็นแนวทางของการดำเนินชีวิต  ละเป็นหลักจริยธรรมและศีลธรรมที่มุ่งสอนบุคคลให้ประพฤติตนอยู่ในทำนองครองธรรมในขณะเดียวกันก็ได้แสดงให้เห็นถึงถ้อยคำอันหลักแหลมลึกซึ้ง  ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น  ได้อนุรักษ์แนวความคิดนี้ไว้เป็นอย่างดี  โดยมีผู้สืบทอดกันมาแบบปากต่อปากและให้ชื่อเรียกว่า  ผญา  คำว่า  ผญา  มีความหมายในทำนองเดียวกันกับคำว่า  ปัญญา  หรือ  ปรัชญา  เพราะเสียง    หรือ  ปร”  คือเสียง    ในภาษาอีสาน  ซึ่งเป็นดั้งเดิมของคนไทย  เช่น  คำว่า  เปรต  เป็น  เผด”  เป็นต้น  ดังนั้น  คำว่า  ปัญญา  จึงกลายเสียงเป็น  ผญา  ผญาคือ  คำพูดที่หลักแหลมได้สาระ  ทำให้ผู้ฟังมองเห็นสติปัญญาของผู้พูด  และมองปรัชญาที่แฝงอยู่ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ขึ้นหน้าไม้บ่ทันเห็นกระฮอก  = หวังความสำเร็จก่อนที่จงลงมือทำ
ตกหมู่แฮ้ง  เป็นแฮ้ง  ตกหมู่กา   เป็นกา = คบกับคนใดจะเหมืนคนนั้น
อย่าฟังความเบา  อย่าเอาความหง่าย  อย่าฟังความข้างเดียว
วัวบ่กินหญ้าอย่าสิข่มเขาหัก  หมูบ่กินฮำอย่าสิดีดังเว้อ  บังคับให้ผู้อื่นทำตามต้องการ
คันได้กินปลาแล้วอย่าลืมปู  ปะปล่อยลางเทื่อปลาขาดข้องยังสิได้ป่นปู 
นอกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้วยังมีคำสุภาษิตทางภาคเหนือที่ให้แง่คิดทางปรัชญาชีวิตเช่นเดียวกันคือ
ข้าจะเลี้ยงหลาย  คนจะผ่านเพราะนอนอุ่น  เป็นลางบอกเหตุให้รู้ล่วงหน้า
อู้กับคนใบ้เหมืนผ่ไม่ต่ำตา  อู้กับคนผญา  เหมือนผ่าไม้โล๋งข้อ  =  พูดกับคนโง่เหมือนผ่าไม้ติดตา  พูดกับคนมีปัญญาเหมือนผ่าไม่มีข้อ
คำสุภาษิตทางภาคใต้ที่ให้แง่คิดทางปรัชญาชีวิตเช่นเดียวกันคือ
กวางเข้าไร่  ไปทำรั่วที่นา
ความหมาย  เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดไม่มีประโยชน์
 ยิ่งหยุดยิ่งไกล  ยิ่งไปยิ่งแค่
ความหมาย  ไม่ว่าการศึกษาหรือการเดินทาง  ถ้าเราทำอย่างต่อเนื่องมันก็จะใกล้ความสำเร็จได้โดยเร็ว

กระแสความคิดที่มีศาสนาพราหมณ์เป็นพื้นฐาน   ศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามาเผยแผ่ในดินแดนสุวรรณภูมิหรือประเทศไทยในปัจจุบันพร้อมกับการอพยพของคนอินเดีย  ซึ่งสันนิษฐานจากศิลปวัตถุที่ค้นพบทางภาคใต้  แล้คาดกันว่าน่าจะเข้ามาก่อนพระพุทธศาสนา  เพราะมีศิลปวัตถุรูปนารายณ์หรือพระวิษณุ  ซึ่งพบที่วัดศาลาทึง  อ.ไชยา  จงสุราษฏร์ธานี  (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร)  เป็นประติมากรรมที่แสดงถึงอิทธิพลอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งพบได้ในคาบสมุทรของไทย  และยังมีประติมากรรมรูปพระวิษณุที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช  มีอายุราว ๆ  พุทธศตวรรษที่  ๑๐  ต่อมาลัทธิไศวะเข้ามาแพร่หลาย  มีการสร้างรูปเคารพของพระศิวะ  และศิวลึงค์  เพื่อบูชาได้พบที่สถานีรถไฟหนองหวาย  อ.ไชยา  จ.สุราษฎร์ธานี  มีอายุประมาณ  กลางพุธศตวรรษที่  ๑๑  ถึงกลางสตวรรษที่  ๑๒
นอกจากที่กล่าวแล้วยังมีแนวความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องพระเป็นเจ้าองค์อื่น ๆ  เช่น  พระพรหม  พระพิรุณ  พระพิฆเนศ  พระอินทร์และพระอัคนี  เป็นต้น  แต่ไม่ค่อยมีอิทธิพลมากเท่ากับพระนารายณ์และพระอิศวร  ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิดของคนไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมา  โดยผ่านเวลาของยุคศรีวิชัย  ลพบุรี  สุโขทัย  อยุธยา  ถึงรัตนโกสินทร์  แนวความคิดอันเป็นปรัชญาธรรมในศาสนาพราหมณ์ของนิกายทั้งสอง  ได้ซึมซับอยู่ในความคิดของคนไทยและได้แสดงออกมาในรูปแบบของวัฒนธรรมจารีตประเพณี  ศิลปกรรมและวรรณกรรมเป็นต้น  ปรัชญาธรรมอันสำคัญของศาสนาพราหมณ์นี่ก็คือ  เรื่องความเชื่อที่ว่ามีพระผู้เป็นเจ้า  ทรงเป็นอันติมาสัจจ์สูงสุด  ทรงเป็นผู้สร้างผู้รักษาและผู้ทำลายโลก  พระองค์ดำรงอยู่เหนือความเป็นไปของสิ่งทั้งปวง  พระองค์มีพระกายเป็นทิพย์  แต่การมีร่างกายของพระองค์ดำรงอยู่เหนือความเป็นไปของสิ่งทั้งปวง  พระองค์มีพระกายเป็นทิพย์  แต่การมีร่างกายของพระองค์ไม่เป็นเหตุให้พระองค์ติดข้องอยู่ในวัฏสงสาร   เพราะพระองค์เป็นเจ้าแห่งกฎแห่งกรรม  พระองค์เป็นสิ่งสมบูรณ์สูงสุดในสากลจักรวาล
นิกายของศาสนาพราหมณ์ทั้งสองที่เข้ามาเผยแผ่ในดินแดนของประเทศไทยคือ
ก.  นิกายไวษณพ  จะมีแนวความคิดที่ว่า   พระนารายณ์เป็นใหญ่สูงสุด  มีพระชายาพระนามว่าพระลักษมี  มีสัตว์พาหนะคือครุฑ  พระองค์ทรงประทับที่เกษียรสมุทร   และเพื่อที่จะช่วยเหลือผู้สักการบูชาและภักดีต่อพระองค์  พระองค์แสดงตนโดยการอวตารมาเกิดในโลกมนุษย์ในลักษณะเป็นสัตว์บ้าง  มนุษย์บ้างแล้วแต่เหตุการณ์
ข.  นิกายไศวะ  จะมีแนวความคิดที่ว่า  พระศิวะเป็นใหญ่สูงสุด  มีพระชายาพระนามว่า  พระแม่อุมา  มีสัตว์พาหนะคือวัว  พระองค์ทรงประทับที่เขาพระสุเมรุซึ่งพวกไศวะนอกายเชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางของโลก
ศาสนาพราหมณ์ทั้งสองนิกายนี้ได้เข้ามาเผยแพร่  ในดินแดนประเทศไทย  ได้มีหลักฐานปรากฏทั้งเทวรูป  และศิวลึงค์  โดยเฉพาะนิกายไวศณพนั้น  ได้เข้ามาเผยแพร่อย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า  จึงมีหลักฐานปรากฏ  เช่น  เทวรูปพระนารายณ์  และเทวสถานหลายแห่ง  มีการสร้างเป็นปรางค์สามยอด  แบบขอมและมีการปั้นปูนรูปพระอิศวรและพระนารายณ์ปางต่าง ๆ  แต่ประยุกต์ตามมุมมองแบบไทยโดยมีการตกแต่งด้วยลวดลายไทย  ทำให้เห็นถึงการประสานกันระหว่างแนวคิดแบบศาสนาพราหมณ์และแนวคิดแบบไทย  นอจากนี้ศาลหลักเมืองก็มีอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์เหมือนกันทั้งสิ้น  โดยที่คนไทยเป็นผู้สร้างตามรูปลักษณ์ในมโนคติของตน  เช่น  ที่สุโขทัย  จะปรากฏกว่ามีทั้งศาลเทพารักษ์  ศาลหลักเมือง  และหอเทวลัย  ศิลปวัตถุต่าง ๆ  เหล่านี้  มีปรากฏต่อเนื่องถึงสมัยอยุธยา   และรัตนโกสินทร์  ที่ปรากฏชัดเจนที่สุด  คือสมัยรัตนโกสินทร์  มีหลักฐานทั้งศาลหลักเมืองและเสาชิงช้า  ซึ่งเป็นที่มาของพิธีตรียัมปวายของศาสนาพราหมณ์  ส่วนเรื่องการสร้างพระปรางค์ของไทยนั้นน่าจะได้คตินิยมมาจากความเชื่อถือของพราหมณ์ตามแบบขอม  จึงนิยมสร้างอาคารคล้ายภูเขาและตั้งบนฐานที่ซ้อนกันหลายชั้นเหมือนกับเขาพระสุเมรุอันเป็นที่ประทับของพระเจ้า  บริเวณองค์พระปรางค์นิยมทำปูนปั้นประดับมีลวดลายเป็นพระนารายณ์บ้าง  ลายครุฑบ้าง  แล้วแต่ความนับถือ  ต่อมาคนไทยได้พัฒนารูปแบบของปรางค์จนรูปแบบของตนเอง  ดังจะพบได้จากพระปรางค์สมัยต่าง ๆ  นับตั้งแต่สุโขทัยถึงสมัยรัตนโกสินทร์  ทำให้เห็นถึงนิสัยแห่งความประนีประนอมและการชอบดัดแปลงจากต้นฉบับมาสู่รูปแบบของตนเอง
ดังที่กล่าวมานี้  จะเห็นได้ว่าอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มีผลต่อแนวความคิดของคนไทยทั้งในด้านอภิปรัชญาและจริยธรรม  ด้านอภิปรัชญานั้นเชื่อว่า  พระเป็นเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด  เป็นทั้งผู้สร้างธำรงรักษา   และผู้ทำลาย  ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับกระแสของนิกายในมีอิทธิพลมากกว่ากันถ้าเป็นนิกายไวศณพมีพระนารายณ์เป็นพระเจ้าสูงสุด  ถ้าเป็นนิกายไสวะ  มีพระศิวะเป็นใหญ่สูงสุด  พระศิวะก็จะมีอิทธิพลต่อการสร้างศิลปวัฒนธรรม  ทั้งสองความเชื่อนี้มีผลต่อความเชื่อในเรื่องความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากพระเจ้ามาปกครองมนุษย์  โดยเฉพาะนิกายไวศณพ  ปราสาทราชวังจึงนิยมแกะสลักรูปพระนารายณ์หรือสัตว์พาหนะคือ  ครุฑ  และยกย่องครุฑเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทย  พระนามของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตส่วนมากจะมีคำว่า  ราม  เรื่อง  รามา  นี้ก็เป็นปางหนึ่งในการอวตารของพระนารายณ์  ๑๐  ปาง   และเมื่อมหากษัตริย์สวรรคตจะนิยมสร้างที่เผาคล้ายเขาพระสุเมรุเพื่อถวายพระเพลิงนำดวงวิญญาณไปสู่สวรรค์
อนึ่ง  กฎระเบียบและจารีตประเพณีที่เกิดขึ้นโดยพระมหากษัตริย์จะมีความเข้มแข็งและเด็ดขาด  เพราะการนำเอาอถรรพเวทเข้ามาเสริมส่ง  เช่น  การถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  ซึ่งจะพบได้จากวรรณกรรมโองการแช่งน้ำในสมัยกรุงศรีอยุธยา  อันเป็นวรรณกรรมที่เกี่ยวกับการดื่มน้ำสาบานเพื่อเรียกร้องความจงรักภักดีจากข้าราชการบริพารโดยใช้วิธีการสาปแช่งและให้พรเพื่อสร้างพื้นฐานความยำเกรง  พิธีนี้ถือสืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  และจากจุดนี้เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง  ที่ทำให้เกิดระบบเจ้าขุนมูลนายและระบบศักดินา   และผลจากระบบนี้ทำให้เกิดหลักจริยธรรมของคนไทยในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนความสุภาพอ่อนโยน  ความกตัญญูรู้คุณ  ความซื่อสัตย์  และความจงรักภักดี  ซึ่งค้นหาปรัชญาชีวิตเหล่านี้ได้จากสุภาษิตพระร่วง  ที่มีว่า
- อย่าตื่นยกยอตน
- ครูบาสอนอย่าโกรธ       โทษตนผิดพึงรู้
- อย่าขัดแย้งผู้ใหญ่                   อย่าใฝ่คนให้เกิน
- มีสินอย่าอวดมั่ง           ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ
- อย่านั่งชิดผู้ใหญ่           อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์
- เป็นคนอย่าทำใหญ่       ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน
- อาสาเจ้าจนตัวตาย       อาสานายจนพอแรง
- อย่าริร่านแก่ความ                  ประพฤตติตามบูรพบอบ
อีกประการหนึ่ง  ยังมีแนวความคิดในเรื่องจิตวิญาณตามแบบศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามาผสมผสานกับแนวความคิดในทางพระพุทธศาสนาคนไทยบางกลุ่มจึงเชื่อกันว่า  วิญญาณหรือจิตนั้นมีดวงเดียวเป็นแสงแวววาวจะออกจากร่างกายเมื่อตายไปแล้ว  และจะไปจุติในร่างใหม่อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละบุคคล  แต่ถ้าในขณะที่นอนหลับอยู่นั้นจะมีเจตภูตเป็นแสงไฟดวง ๆ  ออกจากร่างท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ  แล้วก็จะกลับมาเข้าร่าง  จึงมักจะฝันว่าไปเที่ยวที่นั้นบ้างที่โน้นบ้าง   แต่จิตตามนัยนี้มีเพียงดวงเดียว  จึงต่างจากจิตในความหมายที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกพระพุทธศาสนา  ความเชื่อในศาลหลักเมืองหรือศาลพระภูมิสืบเนื่องใดเมื่อออกจากบ้านก็ต้องไหว้พระภูมิ  เมื่อกลับเข้าบ้านก็ต้องไหว้พระภูมิอีก  เมื่อพบศาลใดตั้งอยู่ก็จะแสดงอาการเคารพ  คนไทยกับความอ่อนน้อมจึงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก  และนิสัยอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ  ไปลามาไหว้
กระแสความคิดปรัชญาไทยที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน   พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเผยแผ่ในดินแดนสุวรรณภูมิหรือประเทศไทยในปัจจุบันประมาณ  พ.ศ.  ๓๐๐  โดยนิกายเถรวาทได้เข้ามาเผยแผ่ก่อนในสมัยทวาราวดี  หลังจากนั้นมาพระพุทธศาสนานิกายมหายานก็ได้เข้ามามีบทบาทแทนที่ในสมัยศรีวิชัย  ทั้งสองนิกายนี้ได้ผลัดกันมีอิทธิพลบนแผ่นดินไทยตลอดมา  แต่การเผยแผ่ของแต่ละนิกายนั้นไม่ได้เน้นทางทำลายหรือโจมตีกัน  เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนรูปแนวของการนับถือและการสร้างรูปเคารพรวมทั้งเปลี่ยนแนวแนววัฒนธรรม  โดยภาพรวมภายนอกดูเหมือนต่างกัน  แต่รากฐานของทั้งสองนิกายนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเคารพยกย่องในองค์พระพุทธเจ้า  แม้ว่านิกายมหายานจะมีพระพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นมาและมีการยกย่องพระโพธิสัตว์แต่ไม่ได้ให้ความเชื่อในพระพุทธศาสนาลดน้อยลงเลย  ซ้ำยังเป็นการช่วยตอกย้ำความเชื่อถือในพระพุทธศาสนาให้มีมากขึ้นและสืบเนื่องยาวนานมาจนทุกวันนี้
ดังนั้นถ้าต้องการจะศึกษาปรัชญาไทย  โดยภาพรวมที่ปรากฏชัดเจนมากที่สุดก็คือปรัชญาไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน  โดยมีขอบเขตของปัญหาที่จะกล่าวถึงนั้นจะอยู่ในประเด็นดังต่อไปนี้
- นิพพาน
- ทุกข์และการดับทุกข์
- ความไม่เที่ยงของชีวิต
- ความไม่ใช่ตัวตน
- ความไม่ยึดถือในตัวตน
- จิตและวิญญาณ
- กรรมและการเกิดใหม่
- บุญและบาป
- สวรรค์และนรก
- วิถีแห่งการสร้างปัญญา
- วิถีแห่งการดำเนินชีวิตให้ปกติ
เรื่องเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเหล่านี้  สามารถจะสืบค้นหาปรัชญาไทย  ได้จากงานวรรณกรรมและศิลปกรรม  นับแต่อดีต  จนถึงปัจจุบันที่นักปราชญ์ไทยทั้งหลายได้รจนา  และรังสรรค์ไว้ในยุคต่าง ๆ  ที่ผ่านมา  เมื่อกล่าวโดยสรุปอย่างกว้าง ๆ  แล้วมีดังต่อไปนี้  คือ

อภิปรัชญา  (Metaphysics)
พระพุทธศาสนาเชื่อว่า  พระนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต  ส่วนเรื่องสวรรค์เป็นเพียงรางวัลสำหรับผู้ทำความดีแต่ยังไม่สามารถหยุดพ้นจากวัฏสงสาร  ซึ่งแนวความคิดนี้จะพบได้ในไตรภูมิพระร่วง  ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่สำคัญที่แต่งขึ้นในรัชสมัยของพระญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย  และในหนังสือ  นิพาน  และ  นิพพานที่นี่เดี๋ยวนี้  ของท่านพระพุทธทาสภิกขุ  และอาจศึกษาได้จากภาพเขียนตามวัดต่าง ๆ  ในประเทศไทยได้แก่  ภาพวาดเทวดาทั้งหลายที่เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  หรือภาพวาดพระพุทธเจ้า  เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากทรงแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา  ภาพวาดเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า  คนไทยเชื่อเรื่องนรกและสวรรค์  แต่ทั้งนรกและสวรรค์ยังคงมีฐานะต่ำจากพระพุทธองค์  ซึ่งอยู่พ้นจากสภาวะเหล่านี้  พระเจ้าของศาสนาพราหมณ์ได้ถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงเทวดาที่อยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม  และเทวดาเหล่านี้ยินดีที่จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า  เพื่อยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นไปอีกจนสามารถหลุดพ้นเข้าสู่นิพพาน
สำหรับสัญลักษณ์ของพระนิพพานนั้น  จะพบได้จากส่วนของสถาปัตยกรรมบนยอดสุดที่เรียกว่า  หยดน้ำค้าง  ซึ่งอยู่ตอนบนของปล้องไฉน  ส่วนที่เป็นบัลลังก์ของเจดีย์นั้น  หมายถึงบัลลังก์พระมหากษัตริย์ของพระพุทธเจ้า  ส่วนองค์ของเจดีย์นั้นพัฒนามาจากสถูปที่เป็นตัวแทนของที่เผาศพ
นอกเหนือไปจากความเชื่อเรื่องพระนิพพานแล้ว  ชาวพุทธทั้งหลายก็ยังปักใจเชื่อว่าพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้ามีอยู่จริง  มีตัวตนในประวัติศาสตร์และเป็นมนุษย์ที่เป็นตัวอย่างแก่มนุษย์แก่มนุษย์ที่จะดำเนินตาม  ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้น  เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเมื่อเข้าถึงพระนิพพานแล้ว  สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ  พระพุทธคุณทั้ง  ๓  ประการ  ได้แก่  พระกรุณาคุณ  พระปัญญาคุณ  และพระบริสุทธิคุณ  จึงนิยมสร้างรูปเคารพเป็นองค์พระพุทธเจ้ามากกว่ารูปเทวดาหรือพุทธเจ้าอื่น ๆ  เพราะเมื่อใดมีความทุกข์ร้อนใจ  จะได้มองพระพักตร์ของพระพุทธองค์  จะได้ระลึกถึงคำสอนและบังเกิดความสงบและความสุข  มีปัญญาเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
ส่วนทางฝ่ายมหายานหรืออาจาริยวาทมีความเชื่อกันว่า  พระพุทธจ้าไม่ได้ดับไป  แต่ยังสดับรับฟังความทุกข์ยากของมนุษย์อยู่เสมอ  และพระพุทธเจ้ามิได้มีองค์เดียว  นอกจากนี้มีพระพุทธเจ้าที่ฝ่ายมหายานชอบสร้างเป็นรูปขึ้น  คือพระพุทธไภษีชัยครุ  ผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ  สัญลักษณ์สำคัญคือ  มีหม้อน้ำมนต์หรือผลสมอวางอยู่ในพระหัตถ์ขวา  แต่ถ้าเป็นรูปพระพุทธเจ้า  ๓  องค์  บนฐานเดียวกันแสดงว่า  เป็นรูปสัญลักษณ์ตามคติตรีกายทั้ง  ๓  ของพระพุทธเจ้าที่แสดงออกมาในรูปของนิรมาณกาย  คือการเป็นมนุษย์  สัมโภคกาย  คือ  กายของพระพุทธองค์ในสวรรค์แดนสุขาวดีที่ปรากฏเฉพาะพระโพธิสัตว์  และธรรมกาย  คือ  กายธรรม
ที่ปรากฏตามปรางค์ต่าง ๆ  ถ้าได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  มักจะพลบรูปเคารพของพระพุทธเจ้า  พระโพธิสัตว์  และปรัชญาปารมิตาตั้งเรียงกันให้พระพุทธรูปตั้งอยู่ตรงกลาง  พระโพธิสัตว์ตั้งอยู่เบื้องขวา  และนางปรัชญาปารมิตาตั้งเบื้องซ้าย  ส่วนทางภาคใต้จะพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมากที่สุด  เพราะแถบนี้ได้รับอิทธิพลของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานซึ่งมาจากอินเดียโดยตรงไม่ผ่านขอมเหมือนยุคลพบุรี  ในภาคใต้นั้นพระพุทธศาสนฝ่ายมหายานเจริญรุ่งเรืองมากในยุคศรีวิชัย  โดยบริเวณ  สุราษฎร์ธานี  แถบกาญจนดิษและไชยา  มีซากเมืองโบราณและพบศิลปวัตถุรูปพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมาก  สันนิษฐานกันว่าพระพักตร์ในชุมชนนั้น ๆ  เพราะพวกเขาเชื่อกันว่า  พระมหากษัตริย์คือ  พระโพธิสัตว์ที่อวตารลงมาเพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก
ส่วนในสมัยสุโขทัย  และอยุธยาตอนต้นได้มีการสร้างเจดีย์  ๕  ยอด  เข้าใจกันว่าสร้างขึ้นเพื่อแทนพระพุทธเจ้า  ๕  พระองค์  คือ  พระพุทธเจ้ากุกกุสันธะ  พระพุทธโคนาคมนะ  พระพุทธกัสสปะ  พระพุทธโคตรมะ  และพระศรีอริยเมตไตย์  ทั้ง  ๕  พระองค์นี้เป็นพระพุทธเจ้าในกัลป์ของเรา  แต่ถ้ามาจากอิทธิพลของขอมนิยมสร้างปรางค์  ๓  ยอด  ปรางค์องค์กลาง  ปรางค์องค์ขวา  หมายถึง  พระอวโลกิเตศวร  ปรางค์องค์ซ้าย  หมายถึงนางปรัญาปารมิตาซึ่งพบได้ที่วัดพระพายหลวง  จังหวัดสุโขทัย  มีปรางค์  ๓  ยอด  เป็นฝีมือสร้างโดยคนไทย
ณาณวิทยา  (Epistemology)  ทฤษฎีที่เกี่ยวกับความรู้ของไทยนั้นไม่ได้มีการเขียนจำแนกออกอย่างพิสดารเหมือนทางตะวันตก  แต่คนไทยเชื่อว่าแหล่งความรู้ที่สามารถานำมนุษย์ไปสู่การค้นพบความจริงนั้นได้เลยกล่าวไว้ในวรรณกรรมต่าง ๆ  เช่นในสมัยสุโขทัยมีสุภาษิตพระร่วงได้กล่าวไว้ว่า
เมื่อน้อยให้เรียนวิชา...........................
อย่าปลุกผีกลางคลอง  อย่าปองเรียนอาถรรพณ์
เป็นคนเรียนความรู้
สมสิ่งสรรพโอวาท  ผู้เป็นปราชญ์พึงสดับ  ตรับตริตรองปฏิบัติ
ข้อความที่กล่าวมานี้แสดงถึงจุดประสงค์ของการสอนให้บุคคลใฝ่หาความรู้  มิให้สนใจมัวเมาในเรื่องทรงเจ้าเข้าผี  หรือในเรื่องไสยศาสตร์  และการที่บุคคลจะได้ความรู้ที่ถูกต้องถูกทางมาได้นั้นจะต้องรู้จักวิธีการของการศึกษาเล่าเรียน  และการสดับตรับฟังในสิ่งที่นักปราชญ์ท่านได้กล่าวไว้  จากนั้นก็นำมาคิดทบทวนให้ดีแล้วจึงนำไปประพฤติปฏิบัติต่อไป  ความรู้ตามที่กล่าวมานี้เป็นความรู้ในระดับผัสสะเท่านั้น  เป็นความรู้ที่นำมนุษย์ไปสู่การรู้ความจริงในโลก  เมื่อคนไทยยอมรับนับถือหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว  ก็ได้นำเอาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  และพัฒนาแนวความคิดในการแสวงหาความรู้อีกระดับหนึ่ง  ซึ่งสามารถนำมนุษย์ไปสู่ระดับสูงคือพระนิพพานนั่นก็คือมีระดับดับต่อไปนี้
ระดับโสดาปัตติมรรค              โสดาปัตติผล
ระดับสกทาคามิมรรค             สกทาคามิผล
ระดับอนาคามิมรรค               อนาคามิผล
ระดับอรหัตมรรค                   อรหัตผล
ความรู้ระดับนี้สามารถอ่านพบได้ในไตรภูมิพระร่วงหรือเตภูมิกถา  อันเป็นวรรณกรรมในสมัยสุโขทัย
จริยศาสตร์  (Ethics)  ซึ่งเป็นวิชาสาขาหนึ่งของปรัชญาที่ศึกษาในเรื่องกฎเกณฑ์ที่จะใช้ตัดสินความดี  ความชั่ว  ความถูก  ความผิด  และกล่าวถึงจดหมายปลายทางของชีวิตมนุษย์นั้นในปรัชญาไทยได้มีกล่าวไว้ในที่หลาย ๆ  แห่งนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เช่น  วรรณกรรมในสมัยสุโขทัย  คือไตรภูมิพระร่วง  ได้กล่าวถึงแนวทางประพฤติปฏิบัติทั้งดีและชั่วว่า  ผลที่ได้รับนั้น  จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน  กรรมจะเป็นตัววัดความดี  ความชั่วของบุคคลผู้กระทำความดี  กรรมดีจะเป็นตัวตัดสินให้ไปสู่สวรรค์  ผู้กระทำความชั่ว  กรรมชั่วจะเป็นตัวตัดสินลงโทษด้วยเครื่องลงทัณฑ์ต่าง ๆ  ด้วยความทุกข์ทรมาน  และในตอนท้ายของไตรภูมิพระร่วงยังได้กล่าวถึงจุดหมายปลายทางที่ชีวิตของมนุษย์ควรจะดำเนินไปถึงให้ได้  นั่นคือ  พระนิพพาน  อันเป็นที่สิ้นสุดของกรรมทั้งปวง
สรุปความว่า  สิ่งที่เรียกกันว่า  ปรัชญา  ในทัศนะของคนไทยก็คือ  หลักการดำรงชีวิตในภาวะของชีวิตที่ดำเนินไปในปัจจุบัน  หรืออีกนัยหนึ่งเป็นเรื่องของปัญญาความรู้สำหรับดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดผลดีงามในชีวิตนี้  และสังคมนี้และข้อนี้ก็สอดคล้องกับลักษณะทางพระพุทธศาสนาที่เน้นความรู้เพื่อชีวิต  มิใช่ความรู้  เพื่อความรู้เหมือนปรัชญาตะวันตก  ดังนั้นคำว่า  ปรัชญา  (ปัญญา)  จึงเป็นคำที่เหมาะสมสำหรับใช้เรียกคำว่า  Philosophy  แม้คำว่า  ปัญญา  (ปรัชญา)  ในพุทธปรัชญาอาจหมายความกว้างไกลจนทำให้นักวิชาการบางคนแสดงความแตกต่างจากคำว่า  Philosophy  โดยแสดงว่า  จุดสุดท้ายของ  Philosophy  เป็นจุดเริ่มต้นของปรัชญา  (ปัญญา)  ก็ตาม  และเพื่อให้จุดนี้ชัดเชนยิ่งขึ้นขออ้างเหตุผลของผู้บัญญัติศัพท์  Philosophy  ว่าปรัชญา  มีดังนี้
Philosophy  ตามมูลศัพท์ภาษากรีกแปลว่า  การรักปัญญา  ความรอบรู้และมีความหมายนิยมใช้ประกอบไว้ด้วยว่า  ผู้มีปัญญาเป็นผู้ที่ประพฤติชอบด้วยความสุข  ฉะนั้น  โซคราตีสจึงได้กล่าวว่า  คุณธรรมได้แก่วิชา  ปัญญา  ตามความหมายนิยมใช้ในพระพุทธศาสนา  ก็มีนัยคำนองเดียวกันกับคำ  Philosophy  ได้แก่  หลักวิชาซึ่งเราก็มีคำว่า  ผู้รู้หลักนักปราชญ์  อยู่และ  ปราชญ์  ก็เป็นคำแผลงมาจากปรัชญาอันเป็นรูปศัพท์ภาษาสันสกฤต  คำบาลีว่า  ปัญญาฉะนั้นจึงแปล  Philosophy
ด้วยเหตุนี้  การใช้คำว่าปัญญาก็ดี  ปรัชญาก็ดี  หรือคำว่าผญาก็ดีต่อศัพท์  Philosophy  จึงนับว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง  เพราะสอดคล้องกับข้อเท็จจริง  ที่คนไทยเข้าใจและเสาะแสวงหา  ตามแรงผลักดันของสิ่งแวดล้อม  ซึ่งทั้งความคิดและสิ่งแวดล้อมต่างก็ปรุงแต่ง  ซึ่งกันและการตลอดเวลาจนก่อรูปเป็นปรัชญาไทยขึ้นมาในที่สุด

ปรัชญา  (Philosophy
เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่รู้จักคิดและได้พัฒนามาทุกด้าน  ซึ่งสูงกว่าสัตว์ดิรัจฉาน  ความคิดของมนุษย์ได้เริ่มมาแต่สมัยโบราณ  สังเกตเป็นธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติทั้งมวล  จึงเกิดความสังสัยว่า  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  ได้พยายามขบคิดหาคำตอบกันไปต่าง ๆ  และถ่ายทอดความคิดนั้นสืบมาถึงอนุชน  ทำให้กลายเป็นปัญหาปรัชญาที่มีคำตอบไม่แน่นอนของคำตอบนี้แหละคือลักษณะเด่นของปรัชญา
ตามความคิดของมนุษย์ทั้งไปยังมีความเห็นว่า  วิชาปรัชญานี่เป็นวิชาที่ค่อนข้างลึกลับซับซ้อนและยากที่คนธรรมดาสามัญจะเข้าใจ  บางคนก็เห็นว่า  วิชาปรัชญาเป็นวิชาที่คนทั่วไปควรจะศึกษาไว้  เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ  เกินกว่าคนทั้งหลายจะเรียนรู้ได้  ยิ่งไปกว่านี้บางท่านก็เห็นว่า  วิชาปรัชญาเป็นวิชาที่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า  วิญญาณอมตภาพเป็นต้น  ถึงกระนั้นก็ตาม  หากมนุษย์ยอมรับว่า  ปรัชญานั้นเกิดมาจากความคิดเห็นของมนุษย์ทั้งหมดแล้วต้องยอมรับด้วยว่า  วิชาปรัชญาก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่มนุษย์คิดค้นนั่นเอง
ปรัชญาเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยหลักการ  ถ้าศาสตร์ใดขาดหลักปรัชญาเสียแล้ว  ก็ย่อมเป็นศาสตร์ไม่ได้  และไม่มีศาสตร์สมบูรณ์  ปรัชญาเป็นความรู้สากลและจำเป็นต่อศาสตร์ต่าง ๆ  ผู้ที่ศึกษาวิชาปรัชญาจะทำให้เป็นคนมีวิจารณญาณที่ดี  รู้จักมองและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ  ในวงกว้างที่แตกต่างไปจากสิ่งแวดล้อมาของตน  อันจะทำให้เป็นคนมีใจกว้าง  รู้จักอดกลั้น  และรับฟังทัศนะที่แตกต่างจากทัศนะของตน  รู้จักวิธีคิดเป็นระบบไม่ขัดแย้งตัวเอง  เข้าใจตัวเองไม่เป็นคนเชื่อง่าย  ทั้งยังเป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชาอื่น ๆ  ต่อไป
สำหรับในประเทศไทย  คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อ  วิชาปรัชญาน้อยมาก  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนไทยมีนิสัยรักสงบชอบอยู่สบายไม่อยากคิดอะไรมาก  บางท่านยังมีความเข้าใจว่า  วิชาปรัชญา  เป็นเรื่องของนักปราชญ์เมธี  นักวิชาการ  เป็นวิชาที่ยากเกินที่จะรับรู้และเข้าใจ  อันที่จริงแล้ว  วิชาปรัชญาเป็นวิชาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่  และความเป็นไปของมนุษย์ทุกระดับชั้น  เพราะความคิดทางปรัชญาเกี่ยวข้องกับตัวมนุษย์และสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ  ตัวมนุษย์เอง  หากสิ่งต่าง ๆ  ในโลกมีเพียงสองอย่างคือ  ตัวท่านเอง  และสิ่งอื่น ๆ  แล้วมนุษย์ก็คงคิดอะไรไม่มากไปกว่าตัวเขาเอง  และสิ่งภายนอกเท่านั้น  ดังนั้นปรัชญาก็คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเองและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

ปรัชญาคืออะไร
คำว่า  ปรัชญา  เป็นศัพท์ทางวิชาการที่พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์  ได้ทรงบัญญัติขึ้นใช้เพื่อให้เป็นคำแปลของคำภาษาอังกฤษว่า  Philosophy  “ปรัชญา  ประกอบด้วยรากศัพท์  ที่มาจากภาษาสันสกฤตตาคือ  ปร+ชญา  ถ้าแปลตามความหมายของนักคิด  นักปรัชญาหลาย ๆ  ท่านแล้ว  ก็พอสรุปความหมายที่แท้จริงของปรัชญาได้  ๓  ประการด้วยกันคือ
๑.  ปรัชญา  หมายถึงความรู้อันประเสริฐ  คือความรู้หรืปัญญาขั้นแท้จริงที่สูงสุด
๒.  ปรัชญา  หมายถึง  ความรู้สากล  คือความรู้ที่สามารถอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้
๓.  ปรัชญา  หมายถึง  ความรู้ที่จำเป็น  คือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรู้   หรือนับได้ว่า  เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานของความรู้ในสาขาอื่น ๆ 
ส่วนคำว่า  Philosophy    มาจากภาษากรีกว่า  Philosophy  ที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า  Philo  แปลว่า  ความสนใจ  ความอยาก  ความรัก  ความสังสัย  กับคำว่า  Sophia  แปลว่าความรู้  เมื่อรวมกันแล้ว  ได้ความว่า  ความสนใจในความรู้  ความอยากในความรู้  ความรักในความรู้  ความสังสัยในความรู้  ดังนั้น  Philosophy  จึงหมายความว่า  เป็นความอยากรู้  รักที่จะเรียนรู้  มีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาคำตอบจากประสบการณ์ว่ามันเป็นอะไร  เป็นอย่างไร  เป็นต้น  ส่วนความหมายของปรัชญานั้น  หมายถึงการเรียนรู้เรียบร้อยแล้ว  จบสิ้นกระบวนการแสวงหาความรู้แล้วโดยสิ้นเชิง
ความหมายของ  Philosophy  ตามรูปศัพท์ตรงตัวเฉพาะคงที่ในตอนต้นของสมัยปรัชญากรีกเท่านั้น  หลังจากนั้นก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป  ได้มีนักปราชญาในอดีตหลาย ๆ  ท่านได้ให้คำจำกัดความของ  Philosophy  แตกต่างกันไปตามทัศนะและสมัยของตน  มีดังนี้
ทัศนะของพลาโต้  ปรัชญาคือการศึกษามุ่งที่จะเข้าใจสิ่งที่เป็นนิรันดร์และแก่นแท้ของสรรพสิ่ง
ทัศนะของอริสโตเติล    ปรัชญาคือศาสตร์ที่ค้นหาความแท้จริงของสิ่งที่มีอยู่โดยตัวอง
ทัศนะของคานท์  ปรัชญาได้แก่  ศาสตร์ที่ว่าด้วยความรู้และสอบสวนความรู้
ทัศนะของสเปนเซอร์  ปรัชญา  คือ  การรวบรวมความรู้ที่สมบูรณ์แล้ว
ทัศนะของวุนต์  ปรัชญา  หมายถึงการรวบรวมความรู้จากวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ
ทัศนะของกองต์   ปรัชญา  ได้แก่ศาสตร์ที่เป็นต้นกำเนิดของศาสตร์ทั้งปวง
ปัจจุบันนี้  ปรัชญามีเนื้อหากว้างขวางและมีขอบเขตครอบคลุมทุกสาขาวิชา  ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า  ปรัชญาเป็นความรู้สากลและจำเป็นคือใช้ได้กับทุกสาขาวิชา  คือทุกวิชาต้องมีหลักปรัชญาจะขาดเสียมิได้  เปรียบเสมือนขบวนรถไวจะขาดหัวจักรไม่ได้เลย

สาขาของปรัชญา
ปรัชญาจะมีเนื้อหากว้างขวางครอบคลุมไปทุกสาขาวิชาก็ตาม    แต่ก็ไม่เกินขอบเขต  ปรัชญา  ที่นักปรัชญาจำแนกกกไว้ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณออกเป็น  ๓  สาขาใหญ่ ๆ  ดั้งนี้
๑.  อภิปรัชญา  (Metaphysics)  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าภววิทยา  (Ontology)  คือทฤษฎีว่าด้วยความมีอยู่จริง  พยายามสืบค้นหาถึงธรรมชาติของความจริง  ธรรมชาติของโลก  ธรรมชาติของวิญญาณ   และธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งสมบูรณ์  อภิปรัชญาแบ่งออกเป็น  ๓  สาขาย่อย  คือ  อภิปรัชญา   เกี่ยวกับธรรมชาติ  เป็นการสืบค้นถึงสสาร  กาย  อวกาศ  ความเป็นเหตุเป็นผล   ชีวิต  วิวัฒนาการ  และระบบจักรกลของเอกภพ  อภิปรัชญาว่าด้วยวิญญาณหรือจิตเป็นการสืบค้นถึงธรรมชาติกำเนิด  จุดหมายปลายทางของวิญญาณ  และสัมพันธภาพระหว่างร่างกายและวิญญาณอภิปรัชญา  ว่าด้วยพระผู้เป็นเจ้า  เป็นการสืบค้นถึงธรรมชาติและคุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า  สัมพันธภาพระหว่างพระผู้เป็นเจ้าโลก  และวิญญาณทั้งปวง
๒.  ญาณวิทยา  (Epistemology)  คือทฤษฎีว่าด้วยความรู้  ปรัชญาจะต้องมีญาณวิทยาเป็นรากฐาน   เพราะญาณวิทยาสืบค้นถึงธรรมชาติ  กำเนิด  ความสมเหตุสมผลและขอบเขตของความรู้ว่า
ประสบการณ์หรือการคิดหาเหตุผลเป็นที่มาของความรู้หรือไม่
ความรู้เป็นที่มาของความจริงหรือไม่
ลักษณะของความรู้ที่สมเหตุสมผลเป็นอย่างไร
อะไรเป็นเครื่องทดสอบความจริง
มนุษย์เราสามารถรู้โลกวิญญาณและพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่  เป็นต้น
เพราะฉะนั้นปัญหาเกี่ยวกับความรู้นี้จึงต้องเกี่ยวข้องกับความรู้ต่อไปนี้
ธรรมชาติของความรู้
กำเนิดของความรู้
ความสมเหตุสมผลของความรู้
๓.  คุณวิทยา  (Axiology)  เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาที่ว่าด้วยคุณค่าหรืออุดมคติ  ซึ่งเป็นรากฐานสูงสุดของชีวิต  คุณวิทยาจำแนกออกเป็นสาขาย่อย ๆ  ได้  ๔  สาขาคือ
ตรรกศาสตร์  (Logic)  เป็นการสืบค้นถึงธรรมชาติของความจริง
จริยศาสตร์  (Ethics)  เป็นการสืบค้นถึงธรรมชาติขิงความดี
สุนทรียศาสตร์  (Aesthetics)  เป็นการสืบค้นถึงธรรมชาติของความงาม
เทววิทยา  (Theology)  เป็นการสืบค้นถึงธรรมชาติของความบริสุทธิ์  สมบูรณ์

จุดมุ่งหมายในการศึกษาปรัชญา
มักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า  ศึกษาวิชาปรัชญาทำไม  ศึกษาแล้วจะได้ความรู้อะไรบ้าง  เรื่องนี้อาจตอบได้ว่า  ได้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่ต้องการจะแก้ให้ลุล่วงไปตามจุดมุ่งหมาย  เช่น  มนุษย์คืออะไร  ความดี ชั่ว  คืออะไร  ตายแล้ไปไหน  ศาสนาคืออะไร  สวรรค์นรกมีจริงหรือไม่  พระผู้เป็นเจ้าคืออะไร  การปกครองแบบไหนดีที่สุด  มาตรการใดเรียกว่าความยุติธรรม  เหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องการความรู้ในสาขาวิชานั้น ๆ  เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาได้อย่างแท้จริง  และสาขาวิชาดังกล่าวนั้นไม่สามารถให้คำตอบที่แน่นอนตายตัวได้  จึงเป็นปัญหาปรัชญาที่จะต้องแก้ให้ทราบและถูกต้องตามเหตุและผล
การศึกษาวิชาปรัชญา  มีความจำเป็นมาก  เนื่องจากเนื้อหาของวิชาปรัชญากว้างมากครอบคลุมเนื้อหาของศาสตร์ต่าง ๆ  อยู่ทั่วไปดังที่นักปรัชญาชาวตะวันตกชื่อว่า  กองต์  ได้ให้ความหมายของปรัชญาไว้ว่า  ปรัชญาคือศาสตร์ของศาสตร์ทั้งปวง  ดังนั้นการศึกษาปรัชญาก็คือการศึกษาเนื้อหาของศาสตร์อื่น ๆ  ด้วย  และจากการศึกษาวิชาปรัชญาจะส่งผลให้เข้าใจสรรพสิ่งในโลกขึ้นเข้าใจตัวเอง  บุคคลอื่นและสังคมดีขึ้น  ทำให้สติปัญญาเจริญงอกงามขึ้น  มีความรู้ในศาสตร์และสรรพสิ่งตามสภาพความเป็นจริงทำเป็นคนมีเหตุมีผลยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  สามารถกำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิตและกำเนิดจุดหมายชีวิตของตนได้
เมื่อกล่าวโดยสรุปจุดมุ่งหมายในการศึกษาปรัชญาก็คือ  เมื่อผู้ศึกษาปรัชญาให้เข้าใจดีแล้วก็จะเอื้ออำนวยผลและเกิดคุณค่าแก่ผู้ศึกษาดังต่อไปนี้
๑.  เพื่อให้ผู้ศึกษาได้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงของมนุษย์  โลกและจักรวาล  เพราะสิ่งเหล่านี้มนุษย์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร  ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง  ใครเป็นผู้สร้าง  และเพื่อให้รู้ว่ามนุษย์โลก  และจักรวาลมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรเป็นต้น
๒.  เพื่อให้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับบ่อเกิดธรรมชาติ  และขอบเขตของความรู้  เพื่อให้รู้ว่าธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ  ตัวเรามีประโยชน์อย่างไรบ้างแก่ชีวิตมนุษย์เป็นต้น
๓.  เพื่อให้มนุษย์เป็นคนที่มีเหตุผล  เพราะมนุษย์จะต้องประสบปัญหานานาชนิด  ตลอดชีวิตในชีวิตประจำวันของตัวเอง  การแก้ไขปัญหาได้ดีจะต้องรู้จักเหตุของปัญหานั้น ๆ  เพราะเหตุผลทุกอย่างย่อมมาจากเหตุเสมอ
๔.  เพื่อให้รู้ความดี  ความงาม  ที่เป็นสากล  และมาตรฐานการตัดสินคุณค่าต่าง ๆ  มาตรฐานความดีความงามและการตัดสินคุณค่าไม่ว่า  ปรัชญาลัทธิใดย่อมต้องอาศัยความประพฤติตามเกณฑ์เป็นปทัสถาน   ถ้าพฤติกรรมออกนอกกฎเกณฑ์ไปสังคมก็จะประณามว่าไม่มีความดีความงาม  มาตรฐานการตัดสินคุณค่าต่าง ๆ  ต้องอาศัยความเห็นชอบของสังคมส่วนมากเป็นเกณฑ์
๕.  เพื่อให้เป็นนักปกครองที่ดี  ส่วนมากนักปรัชญาจะมีจิตใจสูงมีทัศนะที่กว้างไกลไม่เป็นประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ  จะคิดอยู่เสมอว่า  ต้นเองมีความต้องการเช่นไร  ผู้อยู่ใต้ปกครองย่อมมีความต้องการเช่นนั้น  มีความปรารถนาจะช่วยเหลือสังคมอยู่เสมอ
๖.  เพื่อให้เป็นคนมีความสงบโดยสมบูรณ  องค์ประกอบที่สำคัญของมนุษย์มีสองประการคือ  ร่างกายกับจิตใจ
วัตถุต่าง ๆ  อำนวยความสุขให้แก่มนุษย์ได้ทางร่างกายเท่านั้น  แต่หากว่าจิตอันเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของมนุษย์  ถ้าไม่สมบูรณ์  ย่อมเป็นผลให้ร่างกายไม่สมบูรณ์ไปด้วย  ปรัชญาจึงเป็นวิชาที่สำคัญที่ใช้อุปถัมภ์บำรุงรักษาจิตให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
๗.  เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม  เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม  การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มของมนุษย์ย่อมมีความขัดแย้งกันและแข่งขันกัน  ทั้งทางด้านความคิดเห็นและการดำรงชีวิต  จึงทำให้มนุษย์ขาดความยุติธรรม  เพราะมนุษย์มีกำลังกายและกำลังสติปัญญาไม่เท่าเทียมกัน  เป็นสาเหตุให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในสังคม  นักปรัชญาจึงพยายามค้นหาว่าอะไรคือความยุติธรรมในสังคม  นักปรัชญาจึงพยายามค้นหาว่าอะไรคือความยุติธรรมในสังคม  เมื่อสืบเสาะค้นหาคำตอบได้ก็นำความเหล่านั้นมาเปรียบเทียบศึกษาความแตกต่างกันให้ชัดเจน  เห็นว่าคำตอบใดมีเหตุผลสมบูรณ์และถูกต้องยิ่งกว่า  ย่อมมีผลดีให้ความยุติธรรม  เมื่อปฏิบัติ  ดังนั้น  นักปรัชญาจึงวางตนเป็นกลาง  เว้นความไม่ยุติธรรม  ให้ความยุติธรรมทุกฝ่าย





[๑] ดร.จินดา  จันทร์แก้ว.  ปรัชญาบุรพทิศ.  หน้า  ๑๑๒-๑๑๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น