หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เปรียบเทียบพุทธปรัชญาเถรวาทกับลัทธิปรัชญาร่วมสมัย


เปรียบเทียบพุทธปรัชญาเถรวาทกับลัทธิปรัชญาร่วมสมัย

๑.  เปรียบเทียบอภิปรัชญา

พุทธปรัชญาว่าด้วยอภิปรัชญา
          พระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนอภิปรัชญาที่ขาดจากภาคปฏิบัติ พระองค์จึงไม่ทรงเน้นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาอภิปรัชญาที่บรรดานักปรัชญาในสมัยนั้นนิยมคิดกัน แต่ทรงสอนเน้นในเรื่องการปฏิบัติ เพื่อการพ้นทุกข์เป็นสำคัญ การที่พระองค์ทรงเพิกเฉยต่อปัญหาอภิปรัชญาก็ด้วยเหตุผลที่ว่า การถกเถียงในเรื่องของโลกว่าเที่ยงหรือไม่?  วิญญาณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับร่างกายหรือไม่ผู้ที่บรรลุสัจจะเมื่อตายแล้วยังมีอยู่อีกหรือไม่? เป็นต้น  ตามทัศนะของพุทธเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ ไม่ใช่เหตุที่จะนำมหาชนเข้าสู่จุดหมายปลายทางแห่งชีวิตอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม แม้พระพุทธองค์จะทรงไม่พยากรณ์ในเรื่องทั้งหลายดังกล่าว แต่ในพุทธธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ ก็เป็นการตอบปัญหาในเรื่องอภิปรัชญาอย่างชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว ซึ่งจะได้กล่าวถึงพุทธธรรมบางหัวข้อเป็นลำดับดังต่อไปนี้

อริยสัจ ๔ (The four Noble Truths)
          อริยสัจ แปลตามตัวอักษรว่าความจริงอันประเสริฐ ความจริงของท่านผู้ประเสริฐ (อริยะ) หรือความจริงอันทำให้บุคคลเป็นผู้ประเสริฐ ดังนั้น ผู้ใดรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ผู้นั้นก็จะกลายเป็นพระอริยบุคคล หากจะกล่าวโดยสรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดอาจประมวลลงในอริยสัจ เป็นต้นว่า หลักขันธ์ ๕ หลักไตรลักษณ์ หลักกรรม และหลักปฎจจสมุปทาน เป็นอาทิ ล้วนแต่เป็นเรื่องของทุกขสัจทั้งสิ้น การที่พระพุทธองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็เพราะทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ นี่เอง ด้วยเหตุนี้ อริยสัจ ๔ จึงมีความสำคัญมาก อาจกล่าวได้ว่า อริยสัจ ๔ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาทีเดียว หัวข้อ และความหมายของอริยสัจ ๔ โดยสังเขป       
๑.     ทุกข์ (Miseries) ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัด
พรากจากสิ่งอันเป็นมี่รัก ความปรารถนาที่ไม่สมหวัง กล่าวโดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ ๕ (ขันธ์ ๕ ที่ยึดไว้ด้วยอุปาทาน) เป็นทุกข์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ภาวะที่แฝงไว้ด้วยความกดดันบีบคั้นขัดแย้ง มีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ อยู่ในตัว ทั้งที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นแล้ว และที่อาจะเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาเมื่อใดเมื่อหนึ่ง ในรูปใดรูปหนึ่งแก่ผู้ที่ยึดมั่นไว้ด้วยอุปาทานหน้าที่ต่อทุกข์ คือ การกำหนดรู้หรือทำความเข้าใจให้มองเห็นความหมาย และขอบเขตโดยชัดเจนเพื่อการดำเนินการขั้นต่อไปจะพึงเป็นไปได้และตรงกับปัญหา

          ทุกข์เป็นลักษณะสากล เกิดขึ้นได้กับทุกคน เป็นสิ่งที่ประจักษ์อยู่ทุกขณะทุกข์ตามรูปศัพท์ แปลว่า สิ่งไม่น่าปรารถนา (ทุ + กุจฉิตะ) และ แปลว่า สภาพที่ว่างเปล่า (ข + ตุจฉะ) หมายถึง กระบวนการของชีวิต ที่เนื่องด้วยกระบวนการแห่งการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางกายภาพ เช่น ความเกิด ความเจ็บป่วย ความชรา และความตาย และทั้งทางจิตภาพ เช่น ความไม่สมปรารถนาในสิ่งที่ตนปรารถนา การประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา และการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่หวงแหน เป็นต้น สิ่งทั้งมวลดังกล่าวล้วนเป็นสาเหตุที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ในรูปแบบต่าง ๆ กล่าวโดยสรุป ภาวะที่จิตหลงผิดไม่เข้าใจความจริงตามสภาวธรรมจึงยึดติดในร่างกาย และในความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ นั่นแหละ คือ ความทุกข์
๒.     ทุกขสมุทัย (Cause of Miseries) เรียกสั้น ๆ ว่า สมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือเหตุที่ทำ
ให้เกิดความทุกข์) ได้แก่ ตัณหาที่ทำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความติดใจ คอยแส่หาความเพลิดเพลินใหม่ ๆ เรื่อย ๆ ไป ตัณหามี ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ความอยากที่ยึดถือเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง โดยอาการซึ่งมีเราที่จะได้จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้ชีวิตถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกกระวนกระวาย ความกลัว ความติดข้องในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่ปลอดโปร่งเป็นอิสระ หน้าที่ต่อสมุทัย คือ ละเสีย ทำให้หมดไปเสีย หากจะวิเคราะห์ถึงเหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ตามความเห็นของคน ทั่ว ๆ ไป แล้ว จะพบว่าคนทั่ว ๆ ไปมักจะมองสาเหตุแห่งทุกข์ว่ามาจากสิ่งภายนอก เช่น ระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และภาวะแวดล้อมทางกายภาพ เช่น ที่อยู่อาศัย ภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติ ต่าง ๆ เป็นต้น
          ดังนั้น การแก้ปัญหาในเรื่องของทุกข์จึงมักจะแก้ไม่ตรงจุด เพราะสิ่งภายนอกนั้นมิใช่ต้นต่อของสาเหตุที่แท้จริง คือ ปัญหาทั้งหลายเกิดจากสภาวะของจิตอันเป็นสาเหตุที่เกิดจากภายใน การแก้ปัญหาเรื่องทุกข์จึงจะถูกจุดนั่นคือ การละหรือการทำให้หมดไป ซึ่งตัณหาทั้ง ๓ ที่เกิดขึ้นมาจากภายใน
๓.     ทุกขนิโรธ (Cessation of Miseries) เรียกสั้น ๆ ว่า นิโรธ (ความดับทุกข์) ได้แก่ การที่
ตัณหาดับไปโดยไม่เหลือด้วยการละ การสลัดออก การพ้นไปไม่พัวพัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาวะที่ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ เพราะหมดตัณหาไม่ถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกกระวนกระวาย ความกลัว และความติดข้องใด ๆ ทั้งสิ้น เหลือแต่ภาวะที่บริสุทธิ์ สงบ ปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน เป็นอิสระ หน้าที่ต่อนิโรธ คือ การทำให้แจ้งการทำให้สำเร็จ
          กล่าวโดยสรุป คำว่า ทุกข์นิโรธ แปลว่า การดับทุกข์ หมายถึง การดับตัณหานั่นเอง ตราบใดที่เรายังไม่สามารถดับทุกข์ให้หมดไปได้ ก็หมายความว่าเรายังไม่มีนิโรธ การที่พระพุทธองค์ทรงยกเอานิโรธขึ้นมาแสดง ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าความทุกข์ และสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่คนเราสามารถดับได้ สามารถกำจัดให้หมดไปได้ เพราะทุกข์ก็ดี สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ก็ดีล้วนเกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัยเปรียบเหมือนไฟที่เกิดขึ้น จะต้องอาศัยเชื้อเพลิง อากาศและความร้อน ฉะนั้น เมื่อไม่มีสิ่งทั้งสามดังกล่าว ไฟก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
          ดังนั้น การที่จะกำจัดทุกข์ให้หมดไป ก็จะต้องกำจัดทำลาย บรรเทาตัณหาให้หมดไปก่อน จึงกล่าวได้ว่า การกำจัดตัณหา ก็คือ การกำจัดทุกข์นั่นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง นิโรธนี้ ถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพุทธปรัชญา เพราะนิโรจ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นิพพาน
๔.     ทุกขนิโรธคามินีปฎิปทา (Path to Cessation of Miseries) หรือปฎิปทาที่นำไปสู่ความ
ดับแห่งทุกข์ เรียกสั้น ๆ ว่า มรรค และมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ คือ อริยมรรค (ทางอันประเสริฐ) มัชฌิมาปฎิปทา (ทางสายกลาง) และอัฎฐังคิกมรรค (มรรคมีองค์ ๘) ทางที่จะนำไปสู่การดับทุกข์ ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ
(๑)    สัมมาทิฎิฐิ ความเห็นชอบ เห็นถูกต้อง คือ เห็นอริยสัจหรือเห็นสภาวธรรม
ตามความเป็นจริง เช่น เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น ส่วนความเห็นที่ถือว่าอยู่ในขั้นสูงสุด ได้แก่ การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ซึ่งจะต้องเห็นด้วยญาณโดยการทำลายอวิชชา ตัณหา และอุปทาน ได้อย่างสิ้นเชิง
(๒)    สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หมายถึง ความคิดที่มีประโยชน์ทั้งแก่คนเอง
และผู้อื่น ความดำริหรือความคิดมีพื้นฐานมาจากสัมมาทิฎฐิ (ความเห็นชอบ ความเห็นที่ถูกต้อง) หากบุคคลมีความเห็นถูกต้องแล้ว ความดำริที่จะกระทำก็จะถูกต้อง และจะได้ผลดี ความดำริที่ถูกต้อง เช่น ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการออกจากความคิดพยาบาท ความดำริในการออกจากความคิดเบียดเบียน เป็นต้น
(๓)    สัมมาวาจา  การเจรจาชอบ  หมายถึง  การพูดแต่คำสัตย์จริง พูดคำที่
ประกอบด้วยประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และผู้อื่น โดยการละเว้นจากวจีทุจริต ๔ คือ การพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ
(๔)    สัมมากัมมันตะ การงานชอบ การกระทำชอบ  หมายถึง  การกระทำชอบทาง
กายด้วยกายสุจริต ๓ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ (รวมถึงการเบียดเบียน การทรมานสัตว์) เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
(๕)    สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ หมายถึง การแสวงหาปัจจัย ๔ หรือเครื่องอุปโภค
บริโภคต่าง ๆ มาเลี้ยงตน และครอบครัว ควรแสวงหาโดยชอบด้วยหลักศีลธรรม กฎหมาย และขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ดีงาม ไม่ควรเป็นการแสวงหาเพื่อเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น หากผู้ที่ประกอบการค้าขายก็ควรละเว้นจากการค้าขายสิ่งต่อไปนี้ คือ เครื่องประหารชีวิตมนุษย์ และสัตว์ การค้าขายมนุษย์ การค้าขายสัตว์เพื่อฆ่าเป็นอาหาร (สัตว์ที่มีคุณมาก เช่น โค กระบือ) การค้าขายน้ำเมา และการค้าขายยาพิษ

(๖)    สัมมาวายามะ ความเพียรพยายามในทางที่ถูกที่ควร พระพุทธองค์ทรงสอน
เรื่องความเพียรพยายามชอบไว้ ๔ ประการ คือ เพียรละบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น เพียรพยายามละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรพยายามให้กุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรพยายามรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมและให้เจริญพอกพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไป
(๗)    สัมมาสติ การระลึกชอบ คำว่า  สติ  แปลว่า  ระลึกได้เป็นคุณลักษณะอย่าง
หนึ่งของจิต หมายถึง การมีจิตที่ตื่น ไม่หลับใหล ไม่เผอเรอ ไม่ประมาท เอาใจจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแน่วแน่มั่นคง และความรู้ตัวต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าที่ตนกำลังคิด กำลังทำ กำลังพูด การระลึกชอบในระดับสูงขึ้นไป ได้แก่ การมีสติพิจารณาในหลัก สติปัฎฐาน ๔  คือ การพิจารณากาย การพิจารณา เวทนา (ความรู้สึก) การพิจารณาจิต และการพิจารณาธรรม
(๘)    สัมมาสมาธิ  การตั้งใจมั่นชอบ  หมายถึง  การทำใจให้มั่นคงไม่วอกแวกไป
ตามอารมณ์ต่าง ๆ การฝึกอบรมจิตให้สงบนิ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง การตั้งใจมั่นชอบในระดับที่สูงขึ้น คือ การตั้งจิต ให้เข้าถึงสัจธรรม

เปรียบเทียบอภิปรัชญา
          อริยมรรคกับไตรสิกขา เมื่อจะทำการศึกษาและปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น อาจจัดหัวข้อองค์ประกอบทั้ง ๘ ของอริยมรรคลงในไตรสิกขา (สิกขา ๓) ได้ดังนี้ คือ
          - สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ จัดเข้าใน ศีลสิกขา
          - สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ จัดเข้าใน สมาธิสิกขา
          - สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเข้าใน ปัญญาสิกขา
          ความหมายของ ไตรสิกขา คำว่า ไตรสิกขา ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ ไตร + สิกขา เมื่อรวมกันแล้ว แปลว่า การศึกษาหรือถลุง หมายถึง การเรียนรู้ให้รู้ เมื่อรู้แล้วต้องทำให้เกิดความเข้าใจ สิกขาในความหมายรวม หมายถึง กระบวนแห่งการกระทำ เริ่มต้นด้วยการเรียน พิจารณาให้เข้าใจในเนื้อหาสาระแล้วปฏิบัติตาม ความหมายของ ไตรสิกขา (สิกขา ๓) ซึ่งแยกเป็นหัวข้อ ดังนี้
๑.     ศีลสิกขา การศึกษาหรือปฏิบัติการรักษาศีล คือ การควบคุมกาย วาจาให้ปกติ
๒.     สมาธิสิกขา การศึกษาหรือปฏิบัติการโดยการทำจิตให้มั่นคงแน่วแน่ โดยใช้สติคอย
ควบคุมจิตไม่ให้วอกแวกไปตามอารมณ์ต่าง ๆ
๓.     ปัญญาสิกขา การศึกษาหรือปฏิบัติการในความรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม เช่น รู้แจ้ง
เห็นจริงในอริยสัจ ๔
          ปฎิจจสมุปทาน คำว่า ปฏิจจสมุปบาท ประกอบด้วยคำ ๓ คำ คือ ปฎิจจ+สํ+อุปฺปาท เมื่อรวมคำทั้งสามเข้าด้วยกันเป็น ปฎิจจสมุปทาน แปลว่า การอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นของสรรพสิ่งหรือการที่สรรพสิ่งอาศัยกัน และกันจึงเกิดมีขึ้น ถือว่าเป็นกฎแห่งชีวิตและกฎธรรมชาติ เป็นหลักความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมดา ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ยังมีคำอื่น ๆ เรียกแทนคำว่า ปฎิจจสมุปบาท เช่น
          - นิทาน หมายถึง สิ่งที่เป็นต้นเหตุให้เกิดสิ่งอื่น ๆ หรือสิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งอื่น
          - ปัจจยาการ หมายถึง อาการที่เป็นปัจจัยของกัน และกัน หรืออาการ หรือปรากฏการณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น เป็นไปเพราะปัจจัยต่าง ๆ
          - อิทัปปัจจยตา หมายถึง กฎที่ว่าด้วยเหตุผลสากลที่ว่า เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
          พุทธพจน์ที่เป็นตัวบทแสดงหลักปรัชญาปฎิจจาสมุปบาทนั้นแยกออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ แสดงเป็นกลาง ๆ ไม่ระบุชื่อหัวข้อปัจจัย มีลักษณะเป็นหลักกลาง หรือหลักทั่วไป ประเภทหนึ่ง ส่วนอีกประการหนึ่ง จะแสดงเจาะจงระบุชื่อหัวข้อปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งสืบทอดต่อกัน โดยลำดับ เป็นกระบวนการ บางทีเรียกว่าหลักแจงหัวข้อหรือขยายความ เพราะเป็นการแสดงรายละเอียดให้เห็นเป็นหลักประยุกต์ เพราะนำเอากระบวนการธรรมชาติมาแสดงให้เห็น ความหมายตามหลักทั่วไปนั้น อนึ่งหลักปรัชญาปฎิจจสมุปบาททั้งสองประเภทนั้น แต่ละประเภทยังแบ่งออกเป็น ๒ท่อนคือ ท่อนแรกเรียกว่า สมุทัยวาร และถือว่าเป็นการแสดงตามลำดับ จึงเรียกว่า อนุโลมปฎิจจ สมุปบาท เทียบกับหลักอริยสัจ ๔ เป็นหัวข้อที่ ๒ คือ ทุกขสมุทัย) ท่อนหลังเรียกว่า  นิโรธวาร และถือว่าเป็นการแสดงย้อนจากหลังไปหน้า จึงเรียกว่า ปฏิโลมปฎิจจสมุปบาท เทียบกับหลักอริยสัจ ๔ เป็นข้อ ที่ ภ คือ ทุกขนิโรธ) เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องหลักปรัชญาปฏิจจสมุปบาททั้ง ๒ ประเภท ดังกล่าว จึงควรศึกษาจากรายละเอียดดังต่อไปนี้        
๑.  หลักทั่วไป
          ก.    แสดงกระบวนการเกิด (สมุทัยวาร)
                 เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
                 เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
ข.      แสดงการย้อนลำดับหรือสายดับ (นิโรธวาร)
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)
๒.  หลักประยุกต์หรือหลักแจงหัวข้อ
          ก.    แสดงกระบวนการเกิด (สมุทัยวาร)
                 เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี
                 เพราะสังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี
                 เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูป จึงมี
                 เพราะนามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี
                 เพราะสฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี
                 เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนา จึงมี
                 เพราะเวทนา เป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี
                 เพราะตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี
                 เพราะอุปาทาน เป็นปัจจัย ภพ จึงมี
                 เพราะภพ เป็นปัจจัย ชาติ จึงมี
                 เพราะชาติ เป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี
          ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ จึงมีพร้อมความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ ทั้งปวงนี้ จึงมีได้ด้วยประการฉะนี้
ข.      แสดงกระบวนการดับ (นิโรธ)
เพราะอวิชชา ดังไม่มีเหลือ สังขาร จึงดับ
เพราะสังขาร ดับ วิญญาณ จึงดับ
เพราะวิญญาณ ดับ นามรูป จึงดับ
เพราะนามรูป ดับ สฬายตนะ จึงดับ
เพราะสฬายตนะ ดับ ผัสสะ จึงดับ
เพราะผัสสะ ดับ เวทนา จึงดับ
เพราะเวทนา ดับ ตัณหา จึงดับ
เพราะตัณหา ดับ อุปาทาน จึงดับ
เพราะอุปาทาน ดับ ภพ จึงดับ
เพราะภพ ดับ ชาติ จึงดับ
เพราะชาติ ดับ ชรามรณะ จึงดับ
          ความโศก ความคร่ำควรญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับความดับแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
          ในการแสดงกระบวนการตามหลักประยุกต์นั้น องค์ประกอบของปฏิจจสมุปทาน มีจำนวน ๑๒ หัวข้อ องค์ประกอบเหล่านี้เป็นปัจจัยเนื่อง และอาศัยสืบต่อกันไปเป็นรูปวงเวียนไม่มีต้นไม่มีปลาย กล่าวคือ ไม่มีตัวเริ่มแรกที่สุด แต่ในที่นี้ยกเอาวิชชานี้มาเป็นเหตุเบื้องแรกนั้น ก็มิได้หมายความว่าอวิชชาเป็นเหตุเบื้องแรกที่ทำเช่นนั้น ก็เพราะให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้น องค์ประกอบทั้ง ๑๒ หัวข้อนั้น นับตั้งแต่ อวิชชา-มรณะ รวมเป็น ๑๒ หัวข้อส่วนโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นเพียงตัวพลอยผสมเกิดแก่ผู้มีกิเลสสาสวะ เมื่อมีชรามรณะแล้ว ก็จะเป็นตัวการหมักหมมตัวอาสวะ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา หมุนวงจรต่อไปอีก จุดมุ่งหมายของพระพุทธองค์ในการยกเอาหลักปฏิจจสมุปบาทขึ้นมาแสดง ก็เพื่อแสดงกระบวนการเกิดดับของทุกข์ คำว่าทุกข์มีความสำคัญ และมีบทบาทมากในพุทธธรรม แม้ในหลักธรรมที่สำคัญอื่น ๆ เช่น อริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ เป็นต้น ก็มีคำว่า ทุกข์ เป็นองค์กรประกอบที่สำคัญ
          ดังนั้น เพื่อความเข้าใจคำว่า ทุกข์ ในพุทธธรรมให้ชัดเจนในเบื้องต้นก่อน และพิจารณาตามความหมายกว้าง ๆ ของพุทธพจน์ที่แบ่งทุกขตาออกเป็น ๓ อย่าง คือ
๑.     ทุกขทุกขตา ทุกข์ที่เป็นความรู้สึกทุกข์ คือ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ตามอย่างที่เข้าใจ
กัน โดยสามัญตรงตามชื่อตามสภาพที่เรียกกันว่า ทุกขเวทนา (ความทุกข์ปกติที่เกิดขึ้นเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาหรือไม่พึงพอใจ หรือสิ่งที่มากระทบกระทั่งบีบคั้น)
๒.     วิปริณามทุกขตา ทุกข์ที่เกิดมาจากความผันแปรหรือทุกข์ที่เนื่องในความผันแปรของ
สุข คือ ความสุขที่กลายเป็นความทุกข์หรือทำให้เกิดทุกข์เพราะความแปรเปลี่ยน และกลับกลายของมันเอง
๓.     สังขารทุกขตา ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากสภาวะของสังขาร คือ ตัวสภาวะของสังขารเอง หรือ
สิ่งทั้งปวงที่เกิดจากเหตุปัจจัย ได้แก่ ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ คือ เป็นสภาพที่ถูกบีบคั้นด้วยปัจจัยที่ขัดแย้ง มีการเกิดขึ้น และการเสื่อมสลายไป ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง อยู่ในกระแสแห่งปัจจัย จึงเป็นสภาพที่สามารถที่จะก่อให้เกิดทุกข์ได้ทุกเมื่อ แก่ผู้ที่ไม่รู้เท่าทันต่อสภาพ และกระแสของมัน

อภิปรัชญาของอชิตะเกสกัมพล
          ปรัชญาของอชิตะเกสกัมพล เป็นระบบอุจเฉทวาท คือ เห็นว่ามนุษย์เมื่อตายแล้วก็ขาดสูญไม่มีการเกิดใหม่ หรือภพหน้าหากจะเรียกตามแนวของปรัชญาในสมัยปัจจุบัน ก็เรียกว่า ปรัชญาฝ่ายวัตถุนิยม เพราะปรัชญาสำนักนี้ยืนยันว่าความแท้จริงนั่น คือ วัตถุ คือ ธาตุ ๔ โดยถือว่าธาตุทั้ง ๔ นี้ เป็นวัตถุธาตุ เมื่อมารวมกันอย่างได้สัดส่วนก็เป็นร่างกาย จิตวิญญาณก็เกิดจากการรวมกันเข้าของวัตถุธาตุทั้ง ๔ หรือเป็นผลผลิตจากการรวมตัวกันของธาตุ ๔ ของตาย ก็คือ การที่ธาตุทั้ง ๔ แยกออกจากกัน ส่วนที่เป็นธาตุดินก็แยกกลับคืนสู่ดิน ธาตุน้ำก็กลับคืนสู่น้ำ ธาตุลมก็กลับคืนสู่ลม และธาตุไฟไม่มีอะไรเหลือให้รู้ว่าเป็นร่างกาย หรือร่างกายก็ไม่ปรากฏให้เห็นอีกต่อไป ในส่วนที่เป็นจิต และความรู้สึกนึกคิดที่เกิดจากการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ก็ปลาสนาการไปพร้อมกับการดับสลายของร่างกาย คือ ธาตุ ๔ ไม่มีเหลืออยู่เลยจิตหรือวิญญาณหรืออาตมันที่เชื่อกันว่าเป็นอมตะ เป็นสิ่งแท้จริง เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร และเป็นเอกเทศจากร่างกาย เมื่อร่างกายดับสลายแต่วิญญาณหรืออาตมันยังคงอยู่ และล่องลอยไปเพื่อเข้าอาศัยอยู่กับร่างใหม่นั้น เป็นความเชื่อที่เลื่อนลอย และเหลวไหล เพราะจิตหรือวิญญาณเป็นสิ่งที่อาศัยกายเกิดมีขึ้น เมื่อร่างกายดับ            จิตหรือวิญญาณก็ดับ และสลายหายไปไม่เหลือ ไม่มีอะไรล่องลอย


          ปรัชญาของอชิตะเกสกัมพล มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นัตถิกทิฏฐิ เพราะมีทัศนะว่า  ไม่มี หมายถึง โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มีในความหมายของปรัชญาของอชิตะ เกสกัมพล คำว่า โลกนี้ไม่มี มิได้หมายความว่าเขาปฏิเสธว่าโลกทางวัตถุที่เราอาศัยอยู่นี้ไม่มี แต่หมายความว่าตัวบุคคลที่แท้จริงในปัจจุบันนี้ไม่มี เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ล้วนแต่เป็นเพียงสภาพแห่งการรวมตัวกันของวัตถุธาตุ ทั้ง ๔ ทั้งสิ้น เมื่อวัตถุธาตุ ทั้ง ๔ มีการรวมตัวกันเมื่อใด สิ่งต่าง ๆ ก็ปรากฏขึ้นแต่เป็นสิ่งที่ไม่แท้จริง และเมื่อใดวัตถุดังกล่าวมันแยกตัวออกจากกัน ความเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ไม่มีอีกต่อไปสิ่งที่เหลืออยู่ ก็คือธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ เท่านั้น ดังนั้น ตามทัศนะของปรัชญาสำนักนี้จึงถือว่าโลกนี้ไม่ หมายถึงโลกนี้เป็นสิ่งที่ไม่แท้จริง เพราะมีการเกิดขึ้นดำรงอยู่ และสลายไปในที่สุด
          ปรัชญาของปกุธะกัจจายนะ กล่าวว่า ความแท้จริงมีอยู่ ๗ อย่าง หรือ ๗ ประการ เรียกว่า กอง  คือ ๑. ดิน  ๒. น้ำ  ๓. ลม  ๔. ไฟ  ๕. สุข  ๖. ทุกข์  ๗. ชีวะ
          สลารทั้ง ๗ ประการข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เกิดมาเอง ไม่มีใครสร้าง ไม่สูญสลาย เป็นอยู่ชั่วนิรันดรปรัชญาปกุธะให้ทัศนะว่าสภาวะทั้ง ๗ กองนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เบียดเบียนกันไม่ขัดแย้งกัน และสามารถอยู่รวมกันได้ แต่สภาวะทั้ง ๗ กองนี้ หากเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็เกิดจากรวมตัวกันของสภาวะเพียง ๔ กอง คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ
          เนื่องจากปรัชญาปกุธะ กัจจายนะไม่ได้ รวบรวมคำสอนไว้ในคัมภีร์ ในระยะหลังคำสอนของปรัชญาสำนักนี้ได้ค่อย ๆ เลือนหายไป การศึกษาค้นคว้าปรัชญาของ ปกุธะ กัจจายนะ ส่วนใหญ่จึงได้อาศัยหลักฐาน หรือ ข้อมูลจากปรัชญา สำนักอื่น ที่ได้กล่าวพาดพิงถึงปรัชญาปกุธะไว้เป็นบางตอน ดังนั้น รายละเอียดเกี่ยวกับทัศนะของปรัชญาสำนักนี้จึงไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร
          ทัศนะทางปรัชญาของปกุธะ กัจจายนะ ที่นับว่าสำคัญตอนหนึ่ง พบในสามัญผลสูตรแห่งทีฆนิกาย ตอนที่ว่าด้วยพระเจ้าอชาตศัตรู ได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทรงเล่าถึงการที่พระองค์ได้ไปหาปกุธะกัจจายนะและได้ถามปัญหาเรื่องสามัญผลหรือผลแห่งการดำเนินชีวิตของสมณะ หรือนักบวชว่าจะได้รับผลในชีวิตนี้อย่างไรบ้าง ปกุธะไม่ทูลตอบปัญหานี้โดยตรง แต่กลับแสดงทัศนะของตนเองว่า
          ดูก่อนมหาบพิตร สภาวะ ๗ กอง เหล่านี้ ไม่มีใครทำ (สร้าง) ไม่ใช่สิ่งที่ใครได้ทำไว้ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครบัญชาให้ใครเนรมิตไว้ เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กอง เหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกันไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือ ทั้งสุขทั้งทุกข์แก่กันและกัน สภาวะ ๗ กองเหล่านั้นเป็นไฉน? กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ มีชีวะเป็นที่ ๗ สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำไม่ใช่เป็นสิ่ง      ที่ใครได้ทำไว้ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครบัญชาให้ใครมาเนรมิตไว้ เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคง          ดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กอง เหล่านั้น ไม่หวั่นไหวไม่แปรปรวน              ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจจะให้เกิดสุขหรือทุกข์หรือทั้งสุขและทุกข์ แก่กันและกัน ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้คนอื่นฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้คนอื่นฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินเองก็ดี ผู้กล่าวให้คนอื่นได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความหมายเองก็ดี ผู้ทำให้คนอื่นเข้าใจความหมายก็ดี ไม่มีในสภาวะ ๗ กองนั้น เพราะบุคคลที่เอาศาสตราที่คมกล้ามาตัดศีรษะกัน ก็ไม่เชื่อว่าใครปลงชีวิตใครเป็นแต่ศาสตราสอดเข้าไปตามช่องแห่งสภาวะ ๗ กอง เท่านั้น
          ปรัชญาของปกุธะ กัจจยานะ มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับปรัชญาของ อชิตะ เกสกัมพล ในแง่ของทัศนะที่เห็นพ้องกันในเรื่องของธาตุ ๔ แต่แตกต่างกันตรงที่ปกุธะได้เพิ่มสิ่งที่แท้จริงเข้ามาอีก ๓ สิ่ง คือ สุข ทุกข์ และชีวะ เพราะปกุธะ ถือว่า สุข ทุกข์ เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เช่น เดียวกับธาตุ ๔ จากทัศนะของปกุธะนี้ก็แสดงว่าเขาตีความของคำว่า สุข และ ทุกข์ เป็นสิ่งที่มีลักษณะเป็นปรมาณูหรือวัตถุธาตุเช่นเดียวกันกับธาตุ ๔ นั่นเอง ซึ่งมันจะมีอยู่ด้วยตัวของมันเองมาแต่ดั่งเดิม ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครสามารถทำลายในได้ คำว่า ชีวะ ซึ่งเป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายชีวะตามทัศนะของปกุธะก็เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ไม่มีเปลี่ยนแปร และไม่แตกดับ เช่นเดียวกับสภาวะทั้ง ๖ กองดังกล่าวแล้วอย่าไรก็ดี หากปกุธะ กัจจายนะ ให้ความหมายของคำว่า ชีวะ ในลักษณะดังกล่าวนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่า ชีวะ จะต้องมีสภาพเป็นวัตถุหรือสสารเช่นเดียวกับธาตุทั้ง ๔ ด้วย หรืออาจจะมีสภาพเช่นเดียวกับอาตมัน (วิญญาณ) หรือชีวาตมันในคัมภีร์อุปนิษัทก็เป็นได้แต่ชีวะตามทัศนะของปกุธะอาจแตกต่างจากอาตมัน หรือชีวาตมันตรงที่จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

อภิปรัชญาของนิครนถ์นาฏบุตร (เชน)
          อภิปรัชญาของเชนมีลักษณะเป็นพหุสัจนิยม (Pluralistic Realism) หรือสัมพัทธสัจนิยม (Relativistic Realism) ซึ่งมีทฤษฎีที่สำคัญเรียกว่า อเนกันตวาท หมายถึง ทฤษฎีที่ว่าด้วยความมากหลายแห่งสิ่งแท้จริง ปรัชญาเชนให้ทัศนะว่า อันติมะสัจจะ (Ultimate Reality) มีโครงสร้างสลับซับซ้อน การมองสภาพแท้จริงสูงสุดจำเป็นต้องมองจากหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ มุม จึงจะเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของมันได้การมองปัญหาเพียงด้านเดียวหรือมองด้านใดด้านหนึ่งของสภาพแท้จริง โดยไม่คำนึงถึงด้านอื่น ๆ ก็เปรียบเสมือนคนตาบอดคลำช้าง
          ปรัชญาเชน กล่าวว่า สภาพแท้จริง (Reality) คือ ความเป็นนิจนิรันดรท่ามกลาง ควรเปลี่ยนแปลงความเป็นเอกลักษณ์ ท่ามกลางอเนกลักษณ์ และความเป็นเอกภาพ (Unity) ท่ามกลางคุณภาพ (Multiplicity) ปรัชญาเชนได้ให้นิยามคำว่า สภาพแท้จริง ไว้ว่า สภาพแท้จริง คือ ธรรมชาติของปรากฏการณ์ธรรมชาติของการสาบสูญ และธรรมชาติของความถาวร ทั้งสามประการนี้รวมกัน ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติจะต้องมีลักษณะของทั้งสามประการดังกล่าวแล้ว

ปรัชญาเชนได้แบ่งสภาพแท้จริงตามธรรมชาติออกเป็น ๒ ประการ คือ
๑.     ชีวะ ได้แก่ วิญญาณอันมีสัมปชัญญะหรือพิชาน (Conscious Object)
๒.     อชีวะ ได้แก่ สิ่งที่มิใช่วิญญาณและปราศจากสัมปชัญญะ (Non-Conscious Object)

ชีวะ และอชีวะทั้งสองเป็นสภาพที่มีอยู่ ไม่มีใครสร้าง เป็นสิ่งเที่ยงแท้ ไม่สูญสลาย และเป็นอยู่ชั่วนิรันดร
          ๑.  ชีวะ ในปรัชญาเชน หมายถึง วิญญาณอย่างเดียว มิได้หมายรวมไปถึงร่างกายด้วย แม้ร่างกายจะเป็นสิ่งสถิตอยู่ของวิญญาณก็ตาม ชีวะ ตามภาษาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เรียกว่า อินทรีย์ ตามทัศนะของปรัชญาเชนชีวะ หรือ วิญญาณมีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน มีอยู่ทุกหนทุกแห่งในสากลจักรวาล มีทั้งสิงสถิตอยู่ในร่างกาย และล่องลอยอยู่โดยลำพังไม่อาศัยร่างกาย ปรัชญาเชนได้แบ่งชีวะออกเป็น ๒ ชนิด คือ
          ๑.  มุกตชีวะ คือ ชีวะที่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏแล้ว
          ๒.  พัทธชีวะ คือ ชีวะที่ยังไม่หลุดพ้น ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอีกต่อไป
สำหรับพัทธชีวะนี้ยังแยกออกไปได้อีก ๒ ประเภท คือ
                ๒.๑  ตรสะ คือ ชีวะประเภทเคลื่อนไหวได้
                ๒.๒  สถาวะ คือ ชีวะประเภทเคลื่อนไหวไม่ได้

                ๒.๑  ชีวะประเภทตรสะ คือ ชีวะประเภทเคลื่อนไหวได้ ยังสามารถแบ่งออกไปได้อีก ๔ ชนิด ตามความสมบูรณ์มากน้อยของแต่ละชนิด คือ
                   ๒.๑.๑  ชีวะชนิดที่มีประสาทสัมผัสเพียง ๒ ทาง ทางกายสัมผัสและทางชิวหาสัมผัสกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ชีวะที่รับรู้ความรู้สึกทางกายและรับรู้รสทางลิ้น เช่น หนอนชนิดต่าง ๆ
                   ๒.๑.๒  ชีวะชนิดที่มีประสาทรับสัมผัสได้ ๓ ทาง คือ ทางกาย ทางลิ้น และทางจมูก ชีวะชนิดที่สองนี้พิเศษกว่าชนิดแรก ซึ่งไม่เพียงแต่รู้สึกได้ทางกายและรู้รสได้ทางลิ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถรู้สึกในกลิ่นได้ทางจมูกอีกด้วย ชีวะชนิดที่สองนี้ ได้แก่ พวกมดชนิดต่าง ๆ
                   ๒.๑.๓  ชีวะชนิดที่มีประสาทรับสัมผัสได้ ๔ ทาง คือ ทางกาย ทางลิ้น ทางจมูก และทางตา ชีวะชนิดที่ ๓ นี้ นอกจากจะรับสัมผัสได้เช่นเดียวกับชนิดที่สองแล้ว ยังสามารถมองเห็นได้ด้วย ชีวะชนิดที่สามนี้ ได้แก่ พวกผึ้ง แมลงภู่ เป็นต้น
                   ๒.๑.๔  ชีวะชนิดที่มีประสาทรับสัมผัสได้ถึง ๕ ทาง ทางกาย ทางลิ้น ทางจมูก ทางตา และทางหู ชนิดที่สี่นี้พิเศษกว่าชนิดที่สาม ได้แก่ มนุษย์แต่ปรัชญาบางสำนักยังเพิ่มประสาทอีกชนิดหนึ่งคือ ใจ ซึ่งรับอารมณ์เรียกว่า ประสาทหก

          นักปรัชญาได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชีวะ หรืออินทรีย์ชนิดอย่างละเอียด นอกจากได้แบ่งชีวะออกเป็นหลายกลุ่มข้างต้นแล้ว ยังได้แบ่งชีวะประเภทต่ำสุดไว้อีก ได้แก่ พวกพืช ซึ่งมีประสาทรับสัมผัสหรือ มีประสาทรับรู้เพียงทางเดียวคือการสัมผัสพืชและต้นไม้มีความไวต่อการสัมผัส ต้นไม้ยังถูกเรียกว่า สถิต เพราะต้นไม้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ นอกจากชีวะจำพวกพืชและต้นไม้แล้วปรัชญาเชนยังกล่าวถึงการมีอยู่ของ จุลชีวะ (Microscopic Organism) จุลชีวะมีอวัยวะรับรู้เพียงทางเดียว เราไม่สามารถมองเห็นจุลชีวะด้วยตาเปล่าได้ ปรัชญาเชนกล่าวว่า เราสามารถมองเห็นมันได้จากการรับรู้ทางโยคะ โดยทั่วไปจะพบจุลชีวะเหล่านี้ในดิน ในน้ำ ในอากาศและในแสงสว่าง จึงแบ่งชนิดของจุลชีวะเหล่านี้ออกเป็น ๒ หมวด ตามสถานที่อยู่ของมัน เช่น จุลชีวะในดิน จุลชีวะในน้ำ เป็นต้น
          หากกล่าวโดยสรุป ปรัชญาเชนถือว่า ชีวะเป็นสภาพของความแท้จริงอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งยอมรับรู้มีอยู่มากมายเหลือคณนานับ ซึ่งนักปราชญ์เชนได้แบ่งชีวะออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ แล้ว ปรัชญาเชนแบ่งอย่างหยาบ ๆ ไว้เพียง ๒ กลุ่ม คือ
๑.     กลุ่มชีวะที่หลุดพ้นแล้ว
๒.     กลุ่มชีวะที่ยังไม่หลุดพ้น คือ ยังอยู่ในพันธนาการ กลุ่มที่สองนี้จะต้องพบกับการเกิด
การเจริญ การแก่ชรา และการตาย หรือการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

๒.๒  ชีวะประเภทสถารวะ  คือ  ชีวะประเภทที่เคลื่อนไหวไม่ได้  ชีวะประเภทนี้ต้อง
อาศัยอยู่ในปรมาณูของธาตุ ๔ คือ ปรมาณูของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และอาศัยอยู่ในพวกพืชต่าง ๆ ชีวะประเภทดังกล่าวรับความรู้สึกได้ทางเดียว คือ ทางกายสัมผัสคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของชีวะทั้งหมด ก็คือ สัมปชัญญะ (ความรู้สึกตัว) ปรัชญญาเชนกล่าวว่า ชีวะทุกประเภททุกระดับ มีสัมปชัญญะด้วยกันทั้งนั้น แต่จะแตกต่างกันเพียงมีมาก หรือน้อยเท่านั้น และการที่ชีวะจะมีสัมปชัญญะมาก หรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับอณูของกรรมที่ห่อหุ้มชีวะนั้น ๆ อยู่ หากชีวะชนิดใดมีอณูของกรรมห่อหุ้มอยู่เป็นจำนวนมาก หากชีวะใดมีอณูของกรรมห่อหุ้มไว้น้อย ชีวะนั้นก็สามารถแสดงสัมปชัญญะออกมาได้มาก เพราะถูกกีดกันขัดขวางเพียงเล็กน้อย และถ้าชีวะไม่มีอณูของกรรมเข้าไปแทรกซึม หรือห่อหุ้มไว้เลย ชีวะก็จะเข้าถึงความหลุดพ้น และสามารถแสดงสัมปชัญญะออกมาให้ปรากฏได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่มีสิ่งขัดขวางเลย
          ปรัชญาเชน กล่าวว่า โดยสภาพดั้งเดิมของชีวะแล้ว ชีวะทั้งหลายมีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติแบบเดียวกันทั้งหมด นั่นคือ มีศรัทธามากโดยไม่มีขอบเขตจำกัด มีความรู้มากเป็นอนันต์ มีความสุขโดยไม่มีกำหนด และมีความเพียรอันสูงส่ง แต่เนื่องจากชีวะทั้งหลายดังกล่าวมิได้อยู่ในสภาพดั้งเดิมของตนตลอดกาล เพราะถูกอณูของกรรมแทรกซึม และห่อหุ้มจึงเป็นเหตุให้ชีวะเหล่านั้นจะต้องติดข้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ จึงเรียกว่า พัทธชีวะ อณูของกรรมนี่เองที่ทำให้ชีวะต้องเศร้าหมอง และด้อยลงไป ดังนั้น ปรัชญาเชนจึงสรุปว่า ชีวะเป็นผู้รู้ เป็นผู้กระทำ (กรรม) และเป็นผู้เสวยผลของกรรม
          ปรัชญาเชนได้จัดชีวะไว้ในสสารประเภทมีรูปร่าง ด้วยเหตุผลว่า เพราะชีวะมีรูปร่างกินที่ในอวกาศ แต่การกินที่ของชีวะแตกต่างไปจากการกินที่ของวัตถุธรรมดา เช่น ก้อนหิน ซึ่งก้อนหินมันกินที่อยู่ ณ ที่ใด วัตถุอื่นจะไปปรากฏกินที่อยู่ในที่เดียวกันกับมันไม่ได้อีก นอกจากจะเจาะ หรือกะเทาะก้อนหินให้เป็นช่องหรือให้แตกเสียก่อนวัตถุอื่นจึงจะสามารถเข้าไปกินที่ ณ ที่ว่างนั้นได้ ส่วนการกินที่ของชีวะนั้นเหมือนการกินที่ของแสงสว่าง เช่น แสงสว่างที่ออกจากหลอดไฟฟ้าดวงที่หนึ่งในห้องโถงกับแสงสว่างที่ออกจากหลอดไฟฟ้าอีกดวงหนึ่ง ซึ่งอยู่ในห้องเดียวกันก็สามารถกินในที่เดียวกันได้ แม้จะนำหลอดไฟฟ้ามาเพิ่มอีกเป็นสามดวงหรือสี่ดวง แล้วเปิดสวิทซ์ไฟฟ้าแสงสว่างจากดวงไฟเหล่านั้นก็จะกินที่ในที่เดียวกันมันก็กินที่ร่วมกันได้โดยไม่มีการขัดขวางหรือกระทบกระทั่งกันแต่ประการใด แต่ชีวะหรือวิญญาณจะไม่มีรูปร่าง และขนาดของตนโดยเฉพาะ เมื่อใดที่มันเข้าไปสิงสถิตอยู่ในร่างกายของสัตว์ชนิดใด มันก็จะมีรูปร่าง และขนาดเหมือนสัตว์ชนิดนั้น ชีวะของสิงโต ก็มีรูปร่างและขนาดเหมือนสิงโตชีวะของคนก็มีรูปร่างและขนาดเหมือนคน ดังนั้น ร่างกายของคนกินที่เท่าใด ชีวะหรือวิญญาณก็กินที่เท่านั้น
          ตามทัศนะของปรัชญาเชน ชีวะเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ไม่สูญหายหรือดับสลาย ไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นอยู่ชั่วนิรันดร แต่การที่ชีวะต้องมาติดข้องและเวียนว่ายตายเกิดในสภาพของสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันดีบ้างชั่วบ้าง ก็เพราะผลของกรรมที่ทำไว้บันดาลให้ต้องเป็นเช่นนั้น กรรมเป็นตัวสร้างร่างกายให้เป็นลักษณะต่าง ๆ ขึ้นมาหุ้มห่อชีวะไว้ อณูของกรรมทำให้คุณลักษณะ และคุณสมบัติของชีวะด้อยลงไปและแตกต่างกันไป การที่ปรัชญาเชนได้บัญญัติข้อปฏิบัติในการทรมานร่างกายอย่างเข้มงวดและเคร่งครัดนั้นก็ เพื่อกำจัดหรือทำลายกรรมเก่าให้สิ้นไป และไม่สร้างกรรมใหม่ขึ้นมาอีก หากทำได้สำเร็จชีวะก็จะปลดเปลื้องตน พ้นจากพันธนาการทั้งปวง และชีวะก็จะเข้าสู่สภาวะแห่งโมกษะ อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในปรัชญาเชน

๒.  อชีวะ ได้แก่ สิ่งที่มิใช่วิญญาณ และปราศจากสัมปชัญญะหรือภาษาของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เรียกว่า อนินทรีย์ อชีวะแบ่งออกได้ ๕ ประเภท คือ
๑.      วัตถุหรือสสาร
๒.     ที่ว่างหรืออากาศะ
๓.     เวลาหรือกาละ
๔.     การเคลื่อนไหวหรือธรรมะ
๕.     การหยุดนิ่งหรืออธรรมะ

อชีวะทั้ง ๕ ประเภทนี้ เมื่อรวมกันเข้าจึงเป็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลกภายนอก หาก           อชีวะประเภทใดประเภทหนึ่งใน ๕ ประเภทนี้ขาดไป เราจะไม่สามารถบรรยายเกี่ยวกับโลกภาพนอกได้อย่างถูกต้องบริบูรณ์ รายละเอียดเกี่ยวกับอชีวะทั้ง ๕ ประเภท มีดังต่อไปนี้

๑.  วัตถุหรือสสาร
วัตถุหรือสสาร หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปุทคละ ในทัศนะของปรัชญาเชน หมายถึง สิ่งที่มีรูปร่างสามารถมองเห็นได้ และสัมผัสได้ เป็นสิ่งที่สามารถรวมตัวกัน และสามารถแยกออกจากกันได้ วัตถุหรืสสารประกอบด้วยอะตอมหรืออณูของธาตุต่าง ๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นวัตถุทางกายภาพโลกทางกายภาพทั้งหมด เป็นผลมาจากการรวมตัวกันของอะตอมที่มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน อะตอมหรืออณุตามทัศนะของปรัชญาเชน มิได้หมายถึงเฉพาะแต่สิ่งที่เป็นวัตถุชนิดต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นด้วยอณูเช่นเดียวกันอะตอมหรืออณูต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นรูปร่างเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงประสาทรับสัมผัส จิต (มนัส) และลมหายใจก็ประกอบกันขึ้นด้วยอณูเช่นเดียวกัน  อะตอม หรืออณูต่าง ๆ ที่รวมกันเข้าเป็นวัตถุชนิดต่าง ๆ จะไม่มีความแตกต่างกันทางด้านคุณสมบัติ ที่เราเห็นวัตถุ หรือสิ่งของต่าง ๆ ปรากฎออกมาว่ามีคุณสมบัติแตกต่างนั้น เป็นเพราะความเข้มข้น และปริมาณของอะตอมหรืออณูไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น ใบไม้ของต้นไม้ต้นเดียวกัน แต่ปรากฏความมีสีเขียวไม่เท่ากันก็แสดงว่า ความเข้มข้นของสีเขียวที่มีอยู่ในใบไม้มีไม่เท่ากัน และเราสังเกตเห็นว่าใบไม้บางใบเล็ก บางใบใหญ่ นี่ก็แสดงถึงคุณสมบัติ คือ ขนาดไม่เท่ากัน ปรัชญาเชนกล่าวว่า เป็นเพราะปริมาณของอะตอมหรืออณูที่รวมกันเข้าเป็นใบไม้แต่ละใบมีไม่เท่ากันนั่นเอง
คุณสมบัติของวัตถุหรือสสารที่สำคัญมี ๔ ประการ คือ สัมผัสได้ มีรส มีกลิ่น และมีสี อณูแต่ละอณูย่อมมีคุณสมบัติครบทั้ง ๔ ประการนี้ คุณสมบัติทั้ง ๔ นี้ อาจเรียกว่า คุณสมบัติติดตัวหรือคุณสมบัติปฐมภูมิของอณูก็ได้ ส่วนคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น แสงสว่าง ความร้อน ความมืด เงา การรวม การแยกตัว ความสดใส ความหนาแน่น รูปร่าง เป็นต้น จัดเป็นคุณสมบัติทุติยภูมิ แม้แต่เสียงในทัศนะของปรัชญาอินเดียระบบอื่น ๆ จัดเข้าเป็นคุณสมบัติปฐมภูมิ แต่ปรัชญาเชนจัดเสียงเข้าเป็นคุณสมบัติ ทุติยภูมิ โดยให้เหตุผลว่าเป็น คุณสมบัติที่เกิดขึ้นมาภายหลัง จากทัศนะที่ว่าอณูต่าง ๆ มีคุณสมบัติดั้งเดิมเหมือนกันนี่เอง ความแตกต่างระหว่างธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ จึงมิใช่สภาพที่มีมาแต่เดิม แต่เกิดมีขึ้นมาภายหลัง โดยสภาพของคุณสมบัติติดตัว (คุณสมบัติปฐมภูมิ) อณูของน้ำจึงไม่ได้แตกต่างไปจากอณูของดิน ลม ไป ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ การเปลี่ยนสภาพจากน้ำเป็นดิน ลม ไฟ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ตามทัศนะของปรัชญาเชน อณูในรูปที่ละเอียดประณีตที่สุดนั้น คือ อณูของกรรมที่แทรกซึมเข้าไปเกาะติดอยู่ที่ชีวะ หรือวิญญาณ ซึ่งทำให้ชีวะหรือวิญญาณต้องด้อยลงไป ไม่สามารถรู้สภาพของความแท้จริงต้องทำกรรมต่อไป อาจจะดีบ้าง ชั่วบ้าง ตามแต่อณูของกรรมจะมากน้อยเท่านั้น
ปรัชญาเชนกล่าวว่า วัตถุหรือสสารหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ทรัพยะ ได้แก่ สิ่งซึ่งมีคุณสมบัติหรือมีคุณลักษณะ สสารมีคุณสมบัตินับไม่ถ้วนดังกล่าวแล้ว แต่คุณสมบัติที่เที่ยงแท้ของสสาร คือ คุณสมบัติปฐมภูมิ (primary Qualities) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวอยู่กับสสารนั้นตลอดไป หากปราศจากคุณสมบัตินี้แล้ว สสารก็ไม่อาจทรงความเป็นสสารอยู่ได้ เช่น การกินที่ของวัตถุ และสัมปชัญญะของวิญญาณ เป็นต้น ส่วนคุณสมบัติที่เป็นทุติยภูมิ (Secondary Quality) เป็นคุณสมบัติที่ไม่แท้เปลี่ยนแปลงได้เสมอ

๒.  ที่ว่างหรืออากาศะ
          ในความหมายทั่วไปของคำว่า ที่ว่าง หรือ อากาศะ หมายถึง สภาพที่ว่างเปล่าปราศจากวัตถุหรือสสารใด ๆ ปรากฎอยู่แต่ในความหมายของปรัชญาเชนคือที่ว่างหรืออากาศะ เป็นสสารชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด (Infinite) ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร (Etermal) และไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส (Impercerptible) ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ถ้าเราไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสแล้ว เราจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่ามันมีอยู่จริง ปรัชญาเชนตอบว่าเรารู้ได้ด้วยการอนุมานจากการกินที่ของสิ่งที่เป็นวัตถุ เช่น วัตถุชนิดหนึ่งปรากฏอยู่ข้างหน้าเรา เรามองเห็นวัตถุนั้นเราก็ทราบได้ว่าที่นั่นมีที่ว่าง เพราะถ้าไม่มีที่ว่าง วัตถุที่เรามองเห็นมักจะปรากฏอยู่ที่นั่นไม่ได้เลย วัตถุทุกอย่างต้องกินที่ และการกินที่ของวัตถุจะเป็นไปได้ก็เพราะมีที่ว่าง ที่ว่างดังกล่าวนี้เอง ไม่มีการกินที่แต่มันเป็นที่ตั้งของการกินที่ (คือ ที่ว่างหรืออากาศนะ) ทฤษฎีของปรัชญาเชน จึงมีว่า ที่ว่าง หรือ       อากาศะเป็นสิ่งจำเป็นของโลกภายนอก ที่ว่างไม่ให้ความรู้สึกในเชิงปริมาณ ไม่มีสี หรือรส กลิ่น ผัสสะ และไม่มีพิชาน (Non-conscious Object) หรือการรับรู้แต่เรารู้ได้ด้วยการอนุมาน ที่ว่างนี่เองเป็นสิ่งรองรับวัตถุ หรือสิ่งของต่าง ๆ ทางกายภาพ ที่ว่างในลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า โลกากาศะ หรือโลกอวกาศ เป็นสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด

ปรัชญาเชนแบ่งที่ว่างหรืออากาศะออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๑.     โลกากาศ คือ ที่ว่างที่มีโลก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่
๒.     อโลกากาศ คือ ที่ว่างที่อยู่ภายนอกออกไปไม่มีที่สิ้นสุด

ปรัชญาเชนอธิบายว่า  ตรงยอดหรือที่สุดของโลกากาศ   เป็นที่ตั้งของนิวาสถานของ
ผู้บริสุทธิ์ เรียกว่า สุทธิศิลา บรรดาชีวะที่เข้าถึงโมกษะหรือความหลุดพ้นแล้วจะมาสถิตเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ สถานที่นี้ ซึ่งเป็นสถานที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดรไม่มีการสลายหรือสิ้นสุด
๓.  เวลาหรือกาละ
          เวลาหรือกาละเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจำกัด เป็นสิ่งที่ไม่มีการกินที่ในที่ว่างหรืออากาศนะ และเป็นสิ่งที่รับรู้ไม่ได้ทางประสาทสัมผัส ปัญหาจึงเกิดขึ้นตรงนี้ว่า ถ้าเราไม่สามารถับรู้ด้วยประสาทสัมผัสแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรถึงการมีอยู่ของเวลา หรือกาละนั้น ปรัชญาเชน ตอบว่าเราสามารถรู้ได้โดยการอนุมานจากคุณลักษณะของมัน คุณลักษณะของเวลาก็คือ การที่มันทำให้การสืบต่อ การเปลี่ยนแปร และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เป็นต้นไป นอกจากนี้เวลาหรือกาละยังทำให้เกิดความเก่า ความใหม่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต หากการไม่มีอยู่ของเวลา เราก็ไม่สามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปร ความแตกต่างระหว่างความเก่ากับความใหม่ ความเป็นอดีต ปัจจุบันของสิ่งต่าง ๆ ได้
          ปรัชญาเชนกล่าวว่าเวลา หรือกาละเป็นทรัพยะหรือสสารชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสภาวะเป็นหนึ่ง และไม่สามารถแบ่งแยกได้ เวลาเดียวกันปรากฏอยู่ในที่ทุกแห่งทั่วโลก ปรัชญาเชนได้แบ่งเวลาหรือกาละออกเป็น ๒ ชนิด
๑.     เวลาที่แท้จริง คือ เวลาหรือการมีอยู่ต่อเนื่องกันเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นลักษณะของ
เวลาที่แท้จริง
๒.     เวลาที่สมมติขึ้น  คือ  เวลาที่สมมติกันขึ้น  โดยการแบ่งเป็นวินาที  นาที  ชั่วโมง  วัน
เดือน ปี ซึ่งกำหนดช่วงระยะเวลา โดยการเริ่มต้น และการสิ้นสุด ตัวอย่างเช่น ในเวลาหนึ่งวันจะกำหนดด้วยการเริ่มปรากฏขึ้นของดวงอาทิตย์ที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และสิ้นสุดลงตอนที่พระอาทิตย์ลับฟ้าทางทิศตะวันตก เป็นการกำหนดเวลากลางวัน เมื่อกลางวันสิ้นสุดลง กลางคืนก็เริ่มขึ้น และเวลากลางคืนสิ้นสุดลงในเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มปรากฏที่ขอบฟ้าทางตะวันออกอีก

๔.  การเคลื่อนไหวหรือธรรมะ
          การเคลื่อนไหวหรือธรรมะในปรัชญาเชน หมายถึง กฎแห่งการเคลื่อนที่ (Law of Motion) เป็นสิ่งที่มีอยู่ และเป็นสิ่งที่แท้จริงชนิดหนึ่ง เราไม่สามารถรับรู้การมีอยู่ของมันได้ด้วยประสาทสัมผัสแต่เรารับรู้การมีอยู่ของมัน ด้วยการอนุมานจากการเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่งของสิ่งที่เคลื่อนไหวธรรมะแต่ไม่ปรากฏรูปร่าง แต่แฝงอยู่ในที่ว่างทั่วไป ปรัชญาเชนถือว่าธรรมะนี้เป็นสภาพที่แท้จริงดำรงอยู่ชั่วนิรันดรโดยธรรมชาติ ธรรมะนั้นโดยตัวของมันเองไม่เคลื่อนไหว แต่มันช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหว เหมือนการเคลื่อนไหวของปลาในน้ำ ปลาต้องอาศัยน้ำเคลื่อนไหวแหวกว่ายไปได้ แม้การเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้จะเริ่มต้นที่ตัวปลาก็ตาม แต่ถ้าปราศจากน้ำเป็นสื่อกลางคอยช่วยเหลือแล้วปลาก็เคลื่อนไหวแหวกว่ายไปไม่ได้ น้ำจึงมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ปลาเคลื่อนไหวแหวกว่ายไปได้ ในทำนองเดียวกัน การเคลื่อนไหวของชีวะหรือวิญญาณ และสิ่งอื่น ๆ ก็มีธรรมะเป็นสิ่งคอยช่วยเหลือเช่นเดียวกัน การที่ธรรมะเป็นสิ่งที่คอยช่วยเหลือให้เคลื่อนไหวนั้นมิได้หมายความว่าธรรมะจะช่วยเหลือสิ่งที่เคลื่อนไหวไม่ได้ให้เคลื่อนไหวได้ แต่มันเพียงแต่ช่วยให้สิ่งเคลื่อนไหวได้ให้สามารถเคลื่อนไหวไปได้เท่านั้น

๕.  การหยุดนิ่งหรืออธรรมะ
          การหยุดนิ่ง หรืออธรรมะในปรัชญาเชน หมายถึง กฎแห่งการหยุดนิ่ง ปรัชญาเชนกล่าวว่า อธรรมะเป็นสิ่งที่มีอยู่และเป็นสิ่งที่แท้จริงชนิดหนึ่ง ในการมีอยู่ของมันนั้นเราไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส แต่เรารับรู้การมีอยู่ของมันได้โดยการอนุมานจากการหยุดนิ่ง และการเคลื่อนไหวของสิ่งที่เคลื่อนไหว อธรรมะไม่ปรากฏเป็นรูปร่างให้เห็นเหมือนสิ่งที่มีรูปร่างทั้งหลาย แต่มันแทรกอยู่ในที่ว่างทั่ว ๆ ไป ปรัชญาเชนยืนยันว่า อธรรมะเป็นวัตถุ หรือสสารชนิดหนึ่ง ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร
          ปรัชญาเชนให้ทัศนะเกี่ยวกับอธรรมะว่า เนื่องจากโลกทางกายภาพในอวกาศไม่มีขอบเขตจำกัดเลยโลกออกไป เมื่อสสารทั้งหลายกระจายตัวออกไป โลกจึงอาจสลายลงได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีสภาวะคงที่ บางอย่างที่รักษาเสถียรภาพแห่งสสารของโลกนี้ไว้ สิ่งที่รักษาสถานภาพแห่งสสารให้คงที่จึงเรียกว่า อธรรมะ อธรรมะนี้มิได้ทำสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ให้หยุดนิ่ง แต่มันเพียงคอยช่วยเหลือให้การหยุดนิ่งเป็นไปได้เท่านั้น เหมือนแผ่นดินรองรับสิ่งต่าง ๆ บนแผ่นดินให้หยุดนิ่งตั้งอยู่ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยได้ทำการศึกษาปรัชญาเชนในเรื่องธรรมะ และอธรรมะแล้ว             มีความเห็นว่าเป็นหลักการเช่นเดียวกันกับกฎของนิวตัน
          กล่าวโดยสรุป ในเรื่องของธรรมะและอธรรมะ สิ่งทั้งสองนี้มีสภาพตรงข้ามกัน แต่สิ่งทั้งสองมีสภาพเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง คือ ไม่มีกัมมันตภาพ เคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่มีรูปร่าง เป็นสิ่งแท้จริงและเป็นสิ่งนิรันดร
          หากจะกล่าวสรุปในเรื่องของอภิปรัชญาหรือภววิทยาของปรัชญาเชนแล้ว ปรัชญาเชนมีลักษณะเป็นสัจนิยมหรือพหุสัจนิยม เพราะลัทธิเชนยืนยันอย่างเห็นได้ชันเจนว่า โลกภายนอกมีอยู่จริงเมื่อปรัชญาเชนรับรองการมีอยู่ของโลกภายนอกแล้วก็เป็นธรรมดาที่จะต้องรับรองความจริงของสิ่งหลากหลาย ปรัชญาเชนจึงเชื่อว่า ปรมัตถสัจจะนั้นมีอยู่มากมาย นักปราชญ์ในสำนัก
          ปรัชญาเชนเห็นว่า ทุก ๆ สิ่งนั้น มีลักษณะมากมายหลายชนิด หาที่สุดมิได้ และการตัดสินให้แน่นอนลงไปให้แน่นอนตายตัวนั้นไม่ได้ จากทัศนะที่เห็นแตกต่างกันนั้นมีมากมาย ย่อมมองวัตถุอันเดียวกันนั้นไปตามทัศนะของตน ๆ การตัดสินก็ย่อมเป็นไปตามที่ตนเห็นเท่านั้น อาจจะพูดจากสิ่งที่ปรากฏ และอาจจะพูดจากด้านที่ไม่ปรากฏ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทัศนะนั้น ๆ ดังนั้น การตัดสินทุกชนิดซึ่งเราตัดสินกันอยู่ทุกวันนี้ ย่อมมีความจริงก็เฉพาะที่มีความสัมพันธ์กันกับลักษณะเฉพาะสิ่งที่เราได้เห็นได้รู้จากจุดนั้น ๆ เท่านั้น ดังนั้น เราควรทำไว้ในใจเสมอว่า ธรรมชาติปัญหาหรือความรู้ของเรานั้นมีขอบเขตจำกัด และการตัดสินในเรื่องอะไรลงไปก็ด้วยปัญญาหรือความรู้ที่จำกัด ดังนั้น เราจึงควรละทิ้งการเข้าใจผิดที่เราคิดไปว่าสิ่งนั้นถูกโดยสิ้นเชิงสิ่งนี้ผิดโดยประการทั้งปวงเสีย เพราะว่าไม่มีใครถูกและไม่มีใครผิดโดยสิ้นเชิง ทุกคนถูกไปในแง่ที่เขามองเท่านั้น ดังคำกล่าวข้างต้น ตาบอดคลำช้าง เราควรเป็นคนใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เคารพต่อความรู้ของเขา ขณะเดียวกันเราก็ควรระมัดระวังเรื่องทัศนะของคนอื่นที่เราเห็นว่าถูกต้องและทัศนะของเราเองด้วย

๒.  เปรียบเทียบญาณวิทยา
พุทธปรัชญาว่าด้วยญาณวิทยา
          คำว่า ญาณวิทยา หมายถึง วิชาที่ศึกษาวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า ความรู้ ตรงกับภาษาอังกฤษ หรือ Epistemology ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน ๒ คือ ได้แก่ Episteme = ความรู้ หรือความจริง และ Logos = วิชาหรือวิทยา รวมทั้ง ๒ คำ จึงนิยามความหมายว่า ได้แก่ วิชาที่ว่าด้วยความรู้นั่นเอง โดยศึกษาประเด็นที่สำคัญ ๆ เช่น ใครคือผู้รู้ อะไรคือสิ่งที่ถูกรู้ ธรรมชาติแท้ของความรู้คืออะไร บ่อเกิดของความรู้มีอะไรบ้าง และด้วยวิธีการอย่างไร (criteria) เราจึงจะตัดสินได้ว่าอะไร คือ ความจริงหรือความเท็จ ก่อนที่จะศึกษาประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ควรเข้าใจถึงลักษณะแนวความคิดทั่วไปของนักคิดสมัยพุทธองค์ หรือร่วมสมัยเป็นแนวทางก่อน เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง โดยเราแยกกลุ่มนักคิดในสมัยนั้นออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
๑)    กลุ่มประเพณีนิยม (Traditionalists)
๒)    กลุ่มเหตุผลนิยม (Rationalists)
๓)    กลุ่มปฏิบัตินิยม (Experimentalists)
พวกประเพณีนิยม ได้แก่ ชนชั้นที่เรียกตัวเองว่า พราหมณ์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทำหน้าที่สื่อกลาง
ระหว่างมนุษย์ และพระเจ้า พวกพราหมณ์ชี้ว่า วิวรณ์ (revelation) หรือการเปิดเผยโดยพระเจ้า คือ ต้นกำเนิดของความรู้ นั่นคือ คัมภีร์พระเวท เป็นความจริงแท้ที่ผ่านมาถึงมนุษย์ที่จะต้องยอมรับโดยไม่ต้องมีข้อโต้แย้งหรือสงสัยแต่ประการใด อย่างไรก็ตามในช่วงยุคหลังคัมภีร์พระเวทได้ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายขั้นตอน เช่น เริ่มหันความสนใจจากเรื่องพิธีกรรมการสวด และการบูชายัญมาเป็นการสนใจในความรู้ (ชญาณ) และจากการสนใจโลกภายนอก ไปสู่เรื่องความจริงภายในตนเอง (อาตมัน) เป็นต้น
          พวกเหตุผลนิยม เป็นนักศาสนา นักปราชญ์ ที่เริ่มสงสัยในความไม่ผิดพลาดของคัมภีร์พระเวท จึงเริ่มแสวงหาความรู้ด้วยการคิดไตร่ตรองตามหลักตรรกวิทยา และนยวิทยา กลุ่มนักคิดเหล่านี้ ได้แก่ พวกอุปนิษัทรุ่นแรก พวกวิมัตินิยม  (skeptics) พวกนักวัตถุนิยมจารวากหรือโลกายัต และพวกอาชีวก ท่านเหล่านี้มีความเชื่อมั่นในประสาทสัมผัส และหลักเหตุผล ฉะนั้นจึงปฏิเสธความรู้ใด ๆ ที่อยู่นอกขอบข่ายของวิถีประสาท
          พวกปฏิบัตินิยม ได้แก่ พวกฤาษี และพราหมณ์บางกลุ่ม รวมทั้งท่านศาสดามหาวีระ และพระพุทธเจ้าที่ยืนยันทั้งในประสบการณ์ตรง และการรับรู้ด้วยญาณวิเศษ (extra sensory) เฉพาะปรัชญาเชนและพุทธปรัชญานั้น ได้ปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท จนนักคิดภายหลังจัดว่าเป็นพวกนาสติกะ

พุทธทัศนะ
          ต่อนักคิดทั้ง ๓ กลุ่มใหญ่ดังกล่าวนี้ พุทธปรัชญาได้ชี้ให้เห็นถึงความหลงผิดบางประการที่ผู้ศึกษาควรสังเกต เช่น เรื่องการเปิดเผยโดยผ่านพระเจ้าที่ผ่านทางศาสดาพยากรณ์ หรือฤาษี ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า วิวรณ์ (revelation) พระพุทธเจ้าชี้แนะว่าสิ่งซึ่งมีผล ๒ ประการ ในชีวิตนี้ คือ
๑)    ความรู้ที่เกิดจากการอาศัยความเชื่อ
๒)    ความรู้ที่เกิดจากการเปิดเผยโดยพระเจ้า
๓)    ความรู้ที่เกิดจากการใคร่ครวญพิจารณา
๔)    ความรู้ที่เกิดจากการคล้อยตามทฤษฎีใดทฤษฎี
สิ่งเหล่านี้  อาจเป็นทั้งความจริงและความเท็จ   เป็นสิ่งว่างเปล่า  ส่วนความรู้นัยอื่น ๆ  ก็
เช่นเดียวกัน แม้จะไม่เข้าใจลักษณะทั้ง ๔ แต่ก็อาจเป็นความจริงได้ ฉะนั้น ผู้ที่ตั้งใจจะรักษาความจริง จึงไม่ควรสรุปว่า ประเด็นนี้เท่านั้นเป็นความจริง
          ในหลักญาณวิทยาโดยทั่วไปของปรัชญาอินเดีย ได้กล่าวถึงวิธีการเข้าถึงความจริงไว้              ๒ วิธี คือ เข้าถึงได้ด้วยความรู้ (ชญาณมารคา) และเข้าถึงได้ด้วยการอุทิศตนด้วยความภักดี             (ภักดิมารคา) ส่วนการประกอบการงานต่าง ๆ (กรรมมารคา) นั้นถือว่า เป็นพื้นฐานชั้นต้นของ         ทั้ง ๒ วิธี
          สำหรับวิธีการแรก คือ ชญาณมารคานั้น มีประเด็นที่ควรสนใจ ภ ประการ คือ
๑)    ประมา หมายถึง ความรู้ที่แท้จริง ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ ๒ ประการ คือ เป็นสัจจะและ
เป็นความรู้ใหม่จากสิ่งที่เคยรู้มาแล้ว
๒)    ประเมยยะ หมายถึง วัตถุที่ตั้งแห่งความรู้
๓)    ประมาณะ ได้แก่ เครื่องมือที่ช่วยให้เกิดความรู้
สำหรับประเด็นที่ ๑  และ ๒ ได้กล่าวไว้แล้ว ในตอนที่ว่าด้วย ความจริงในทัศนะของพุทธ
ปรัชญา ฉะนั้น ในบทนี้จะศึกษาวิเคราะห์เฉพาะหัวข้อประมาณ หรือแหล่งที่ทำให้เกิดความรู้เท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้นักญาณวิทยาในอินเดีย ได้ประมวลมากล่าวไว้ถึง ๖ วิธี คือ
๑)    ประจักษประมาณ (Perception)
๒)    อนุมานประมาณ (Inference)
๓)    ศัพทประมาณ (Verbal Testimony)
๔)    อุปมานประมาณ (Comparision)
๕)    อารถปัตติ (Postulation)
๖)    อนุปลัทธิ (Non-apprehension)

ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจ  คำว่า  ประมาณ  ให้ชัดเจนก่อน  คำนี้หมายถึง  เครื่องมือ
หลักหารหรือวิธีการที่บุคคลใช้ในการพิจารณาความสงสัย และตรวจตราหาความจริง เพื่อขจัดความสงสัยนั้น ๆ ปัญหาขณะนี้ คือ ความสงสัยคืออะไรเล่า?  ความสงสัยก็คือความไม่แน่ใจ ที่เกิดขึ้นจากการสำรวจหาลักษณะพิเศษของสิ่งนั้น ๆ ยังไม่พบ และความสงสัยทั้งหมดล้วนมีมูลฐานตั้งอยู่ที่ลักษณะภายนอกหรืออารมณ์ทั้งมวล ซึ่งได้แก่ รูป เสีย กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ซึ่งนิยมเรียกว่า ประเมยยะ หรือสิ่งที่ถูกพิจารณาสำหรับผู้พิจารณาหรือทำหน้าที่ตรวจตรา ความสงสัยนั้นได้แก่จิตใจ แต่ลัทธินยายะ และเวทานตะยืนยันว่า ตัวรู้ หรือ ที่เรียกว่า ประมาตา ได้แก่ วิญญาณ หรืออาตมันนั่นเอง ส่วนวิธีการที่ใช้เพื่อขจัดความสงสัย และให้ได้มาซึ่งความรู้ที่ถูกต้อง เรียกว่า ประมาณ และความรู้ที่เกิดขึ้น เรียกว่า ประมิติ ในตอนนี้จะกล่าวเฉพาะประมาณทั้ง ๖ โดยสังเขป คือ
          ประจักษ์ประมาณ หมายถึง การรับรู้สิ่งต่าง ๆ ในโลกภายนอกโดยอาศัยอวัยวะประสาทสัมผัสโดยตรง เช่น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส และการสัมผัส ซึ่งโดยทั่วไปบุคคลเชื่อว่าเขาได้รับรู้โลกภายนอกโดยตรงไม่มีอะไรคั่นอยู่ระหว่างวัตถุที่ถูกรับรู้ และอวัยวะที่ทำหน้าที่รับรู้ อย่างไรก็ตามคำว่าประจักษ์ประมาณในที่นี้ ในทัศนะของนักจิตวิทยา และนักปรัชญาได้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันอยู่บ้างคือ
          นักจิตวิทยา นักจิตวิทยาสมัยใหม่ได้นิยามประจักษประมาณ ว่าได้แก่ ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการแปลความหมายของความรู้สึก (Felling) โดยกระบวนการของระบบประสาทส่วนสมอง ตัวอย่างเช่น บุคคลเห็นดอกกุหลาบสีแดง นักจิตวิทยาจะเริ่มวิเคราะห์ตามลำดับว่า ข้าพเจ้าเห็นวัตถุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสีแดง และวัตถุสิ่งนี้ คือ ดอกกุหลาบ โดยนัยนี้ ประจักษประมาณในทัศนะของนักจิตวิทยาจึงต้องประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ประมาร คือ
๑.        การแยกประเภทวัตถุที่ประจักษ์ออกจากสิ่งที่ไม่ประจักษ์ เช่น แยกสีแดงออกจากสี
อื่นๆ และแยกสีแดงออกจากความรู้สิ่งที่เนื่องด้วยกลิ่น รส และการสัมผัส เป็นต้น
๒.        ความสำนึกเปรียบเทียบสีแดงในดอกกุหลาบที่เห็นกับสีแดงทั่วไปรวมทั้งการหวล
ระลึกถึงกลิ่น รส ของดอกกุหลาบที่เคยเห็นมาแล้ว
๓.        การตระหนักและเกิดความรู้ว่า วัตถุที่ประจักษ์อยู่เฉพาะหน้าในกาลเทศะ เฉพาะ
นั้น ๆ  คือ ดอกกุหลาบสีแดง

          โดยหลักการเช่นนี้ ถ้ามีวัตถุอะไรก็ตามที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับดอกกุหลาบในกาละเทศะที่เหมือนกัน และมีภาวะเหมือนดอกกุหลาบ นักจิตวิทยาจะไม่รอเลยที่จะด่วนสรุปว่า นั่งคือดอกกุหลาบสีแดง ทุกกรณีไป

พุทธทัศนะ
          พระพุทธเจ้ามิได้ทรงผูกขาดแหล่งเกิดของความรู้ และทั้งมิได้ถือว่าเป็นเจ้าของญาณมรรคแต่เพียงผู้เดียวด้วย การปฏิเสธนักคิดสายอื่น ดังเช่น ในพรหมชาลสูตรทีฆนิกาย พระองค์ทรงยอมรับว่าสมณะและพราหมณ์บางพวกสามารถบรรลุถึงญาณพิเศษ แล้วเชื่อว่าโลก (ปรมาตมัน และอาตมัน) เป็นสิ่งอมตะหรือเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก แต่พระองค์ไม่ทรงยอมรับว่าบทสรุปหรือทฤษฎีดังกล่าว ตรงกับความจริงแท้ ทั้งไม่ถือว่าความรู้เช่นนั้นจะก่อให้เกิดความสุขสงบที่แท้จริง และความหลุดพ้นได้ทรงถือว่าทั้งญาณพิเศษ และความรู้ทุกรูปแบบล้วนเป็นเพียงเครื่องมือหรือมรรควิธีเท่านั้น มิใช่เป็นจุดหมายปลายทางในตัวมันเอง ประการสำคัญทรงเน้นอย่างชัดเจนว่า ความรู้ใด ๆ ที่เนื่องด้วยเจตนคติส่วนตัวของบุคคล เช่น ความชอบหรือไม่ชอบ หรืออคติทั้ง ๔ เป็นต้น ย่อมจะปิดบังความจริงแท้ และความหลุดพ้นนั้น ไม่ใช่เกิดเพราะความรู้ แต่เกิดเพราะการไม่ยึดมั่นในความรู้นั้น ๆ และในสิ่งทั้งปวงต่างหาก (อนุปาทาย วิมุตติ) อย่างไรก็ตาม ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งความรู้ พระพุทธเจ้าได้ทรงเน้นไว้ ๓ วิธี คือ
๑.     ประจักษประมาณ คือ ประสบการณ์ทั้งแบบสามัญ และแบบพิเศษ
๒.     อนุมานประมาณ คือ การหาเหตุผลจากสิ่งที่ประจักษ์ เพื่อเรียนรู้สิ่งที่ไม่ประจักษ์โดย
อาศัยความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งสอง
๓.     ศัพท์ประมาณ คือ พยานหลักฐานรวมทั้งรายงานข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งสิ่งดังกล่าวอาจจะ
เป็นความจริงหรือเท็จก็ได้ ฉะนั้น จะต้องนำมาพิสูจน์กับประสบการณ์ส่วนบุคคลก่อน

๑)  ประจักษประมาณ
          ตามทัศนะของพุทธ หมายถึง สภาวธรรม คือ การรู้ที่เกิดขึ้นที่ในขณะที่ประสาทสัมผัสภายในทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และร่างกาย กระทบกับวัตถุภายนอกที่เป็นของคู่กัน คือ สี เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัส ความรู้ชั้นประจักษ์นี้ถือว่าเป็นความรู้แบบสามัญ ซึ่งช่วงการเกิดหยุดอยู่แค่การกระทบ และรู้เท่านั้นยังไม่เจือปนด้วยเจตคติส่วนตนรวมทั้งไม่เนื่องด้วยบัญญัติต่าง ๆ อันเกิดจากความจำในอดีต อนึ่งในเรื่องประจักษประมาณนี้ มีข้อสังเกตที่ควรศึกษา ๕ ประการ คือ
๑.     ความรู้ขั้นนี้เปิดเผยเฉพาะลักษณะภายนอกของสิ่งนั้น ๆ เท่านั้น
๒.     เป็นความรู้ที่เนื่องด้วยความรู้สึก และเจตนคติที่มีอยู่แล้ว เช่น เวทนา ตัณหา อุปาทาน
ที่เคยมีอยู่ก่อนการรู้ เป็นต้น
๓.     เป็นความรู้ขั้นสมมติบัญญัติ และขั้นโลกียะเท่านั้น
๔.     ไม่สามารถรู้แจ้งความจริงแท้โดยตลอดได้
๕.     ก่อให้เกิดความหลง และไม่เข้าใจในมายาการของโลกภายนอก

ฉะนั้น  จึงไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตที่แท้จริงได้  นอกจากนี้  จากหลักฐานในมัชฌิมนิกาย
พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสถึงขั้นตอนการเกิดความรู้ขั้นนี้ไว้อย่างละเอียดชัดเจนว่า ประสาทสัมผัสกระทบกับวัตถุภายนอก จะก่อให้เกิดวิญญาณ ผัสสะ เวทนา ตัณหา และอุปาทาน เป็นต้น ตามลำดับ ซึ่งบุคคลทั่วไปมักจะถือเอาว่าสิ่งที่ตนรู้สึกก็ คือ สิ่งที่ตนรู้ และเขาจะคิดหาเหตุผลในสิ่งที่รับรู้โดยนัยดังกล่าว ซึ่งการคิดก็จะถูกครอบงำด้วยตัณหามานะ และทิฎฐิเก่า ๆ จนทำให้รู้สึกว่า วัตถุที่ตนรับรู้นั้นเป็นสิ่งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ท่านญาณนันทะได้เสนอทัศนะในประเด็นนี้ไว้ว่า เห็นได้ชัดว่ามิใช่เป็นเพียงกระบวนการที่เกิดขึ้น โดยบังเอิญ มิใช่เป็นกิจกรรมที่ถูกควบคุม โดยละเอียดรอบคอบ แต่การคิดตามประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสนั้น มักจะเนื่องด้วยตัณหามานะ และทิฎฐิทั้งหลายด้วยประการสุดท้าย ผู้รับรู้จะกลายเป็นวัตถุแห่งการรับรู้ไปอย่างช่วยไม่ได้ โดยนัยนี้ความรู้ที่เกิดขึ้นทางประสบการณ์สามัญ โดยทั่วไปจึงไม่ก่อให้เกิดญาณทัศนะถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
          นอกจากการประจักษประมาณหรือประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสแล้ว พุทธปรัชญายังประกาศถึงประจักษประมาณแบบพิเศษอีกด้วย ซึ่งความรู้ที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะที่สำคัญ คือ
๑.     เปิดเผยสภาวะลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้น ๆ
๒.     เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ไม่เนื่องด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
๓.     เป็นความรู้ขั้นปรมัตถ์ และขั้นโลกุตตระ
๔.     เป็นความรู้ขึ้นญาณทัศนะ จนสิ้นสงสัยในสิ่งทั้งปวง
๕.     ก่อให้เกิดความสุข สงบ และการรู้แจ้งถึงที่สุด

ความรู้ประเภทนี้เป็นผลมาจากการพัฒนาการจิตที่สมบูรณ์แล้ว ด้วยความสมดุลย์เต็มที่
ระหว่างศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเมื่อแยกโดยประเภทแล้วมี ๖ ประการคือ
๑.     อิทธิวิธี  ความรู้ขั้นที่สามารถแสดงฤทธิ์อภินิหารเหนือปรากฏการณ์สามัญ และเหนือ
ขอบเขตประสบการณ์ธรรมดาได้
๒.     ทิพยโสตะ  ความรู้ที่สามารถทำให้ได้ยินคลื่นเสียง ในระดับความถี่ ในกาละ และ
เทศะที่ประสาทหูไม่ได้ยิน
๓.     เจโตปริยญาณ  ความรู้ที่สามารถตามกำหนดรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นได้
ในทันทีที่ต้องการ
๔.     ปุพเพนิวาสานุสติญาณ  ความรู้ที่สามารถรู้แจ้งถึงสภาวการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตใน
อดีตชาติได้โดยตลอด
๕.     ทิพยจักษุ  ความรู้ที่ทำให้สามารถเห็นคลื่นสี่ที่ประสาทตาธรรมดารับรู้ไม่ได้
๖.     อาสวักขยญาณ  ความรู้ระดับสูงสุดที่ทำให้จิตเป็นอิสระจากกิเลส และอาสวะทุก
รูปแบบจนรู้แจ้งสัจธรรมถึงที่สุด

          ความรู้ ๕ ประการแรกจัดเป็นระดับโลกียะส่วนประการสุดท้ายจัดเป็นโลกุตตระ ซึ่งทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า อภิญญาหรือความรู้ขั้นยอดเยี่ยม (ดู วิชชา ๘ และวิปัสสนาญาณประกอบด้วย) และในมัชฌิมนิกายมูลปัณณาสก์ยังได้กล่าวถึงญาณหรือความรู้ชนิดพิเศษที่เป็นกำลังสำคัญอีก ๑๐ ประการ เรียกว่า ทศพลญาณ ๑๐ คือ
๑.      ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะ และอฐานะ คือ รู้กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับขอบเขต
และขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล และกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมเกี่ยวกับสมรรถวิสัยของบุคคล ซึ่งจะได้รับผลที่ดี และชั่วต่าง ๆ
๒.      กรรมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม คือ สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่าง
สลับซับซ้อน ระหว่างกรรมดี และกรรมชั่วที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ มองเห็นรายละเอียดของความสัมพันธ์ภายในกระบวนการก่อผลของกรรมอย่างชัดเจน
๓.      สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ สุคติ
ทุคคติ หรือพ้นจากคติ หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่อรรถประโยชน์ทั้งปวง คือ ปฏิฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ หรือปรมัตถะ
๔.      นานาธาตุญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ เป็นอเนกคือ
รู้สภาวะของธรรมชาติทั้งส่วนที่มีชีวิต และไร้ชีวิต เช่น รู้ว่าส่วนประกอบต่าง ๆ ของชีวิต พร้อมทั้งหน้าที่ เช่น ขันธ์ อายตนะ ธาตุต่าง ๆ ในกระบวนการรับรู้ เป็นต้น
๕.      นานาวิมุตติกญาณ ปรีชาหยั่งรู้อธิมุติ คือ รู้อัธยาศัยความโน้มเอียง ความเชื่อถือ และ
ความสนใจ เป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่าง ๆ กัน
๖.      อินทริยปโรปริยัตติญาณ  ปรีชาหยั่งรู้  ความยิ่ง   และหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์
ทั้งหลาย คือ รู้ว่าสัตว์นั้น ๆ มีสัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาระดับไหน มีอินทรีย์อ่อนหรือแก่กล้าพร้อมที่จะตรัสรู้ เป็นต้น
๗.      ญานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่ง
ญาณ วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย

          ทศพลญาณอีก ๓ ข้อที่เหลือ มีนัยเหมือนอภิญญา ๖ ในหัวข้อ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ (ทิพยจักษุ) และอาสวักขยญาณ ซึ่งได้กล่าวแล้ว

๒)  อนุมาณประมาณ
          คำว่า อนุมาณ ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ อนุ แปลว่า ภายหลัง และมานะ แปลว่า ความรู้ ฉะนั้น อนุมาน จึงหมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งถือว่าเป็นความรู้โดยอ้อม เพราะอนุมานประมาณจะเริ่มจากการศึกษาวิเคราะห์สิ่งประจักษ์ไปหาบทสรุป หรือความจริงที่ไม่ประจักษ์ โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งสอง โดยนัยนี้ อนุมานประมาณ จึงมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
๑.     สิ่งที่จะอนุมานหรือสิ่งที่จะถูกพิสูจน์ (สาธยะ) จะต้องเป็นสิ่งที่ไม่ประจักษ์
๒.     เครื่องมือในการอนุมาน (เหตุ) จะต้องเป็นสิ่งที่ประจักษ์อยู่เสมอ
๓.     สิ่งที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่จะถูกพิสูจน์ (ปักษ์) จะเป็นสิ่งที่ประจักษ์หรือไม่ประจักษ์
ก็ได้ ตัวอย่าง บุคคลเห็นควัน (ไฟ) ซึ่งถือว่าเป็นเหตุที่ประจักษ์โดยทางประสาทสัมผัสอยู่ แล้วอนุมานถึงไฟ (สาธยะ) ซึ่งตนเองไม่ประจักษ์ และสิ่งที่สัมพันธ์กับไฟอีกอย่างหนึ่ง (ปักษ์) คือ ปล่องไฟ ซึ่งลักษณะการหาความรู้เช่นนี้มีรูปแบบที่ควรศึกษา ๒ รูป คือ

รูปแบบที่ ๑ มีขั้นตอนดังนี้
๑.     ปฏิญญา คือการกล่าวถึงบทสรุปที่เราจะพิสูจน์หรืออนุมาน เช่น ภูเขาโน้นมีไฟ
๒.     เหตุ คือ เครื่องมือในการอนุมาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประจักษ์ในที่นี้ ได้แก่ ควัน เช่น ภูเขา
โน้นมีควัน
๓.     อุทาหรณ์ ได้แก่ ตัวอย่างที่เรายกมาเพื่อพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างไฟ (สาธยะ)
และควัน (เหตุ) เช่น มีไฟที่ไหน ย่อมมีควันที่นั่น

รูปแบบที่ ๒  มีขั้นตอนที่หนึ่ง สอง และสาม เหมือนกันกับแบบที่หนึ่ง เพียงแต่เพิ่มอุปนัย และนิคมเข้าไปอีกรวมเป็น ๔ ขั้น ซึ่งมีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้
          อุปนัย หมายถึง การกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุ (ควัน) กับสาธยะ (ไฟ) เพื่อเป็นหลักยืนยันว่า กรณีที่มีควันย่อมมีไฟ เพราะควันมีความสัมพันธ์กับไฟ
          นิคม หมายถึง สรุปหรือลงมติยืนยันเป็นขั้นสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง เช่น ปฏิญญาที่ว่า ภูเขาโน้นมีไฟ ตามหลักเหตุผลที่กล่าวแล้วจึงลงมติยืนยัน
          ลักษณะการอนุมานทั้ง ๒ รูปแบบนี้ แบบที่หนึ่งใช้สำหรับการคิดหาเหตุผลเฉพาะตนส่วน แบบที่สองเพื่ออธิบายให้บุคคลอื่นเข้าใจ นอกจากนี้นักศึกษาควรศึกษาถึงการอนุมานทั้ง ๗ ชนิดคือ
๑.     อนุมานจากการณะไปหาการิยะ เช่น เห็นเมฆฝนแล้วอนุมานถึงฝน
การณะ ---------การิยะ
๒.     อนุมานจากการะยะไปหาการณะ เช่น เห็นรอยเท้าช้างอนุมานถึงความมีอยู่ของช้าง
การิยะ ---------การณะ
๓.     อนุมานจากสิ่งที่ติดต่อไปหาสิ่งที่ถูกติดต่อ เช่น เห็นควันแล้วอนุมานถึงไฟ
๔.     อนุมานจากลักษณะสามัญไปหากิริยาสามัญ เช่น เห็นคนกรุงเทพฯ รักความยุติธรรม
อนุมานถึงการรักความยุติธรรมของคนบ้านนอก (หรือ) เห็นคนกรุงเทพฯ เดิน อนุมานถึงการเดินของคนสุโขทัย เป็นต้น
๕.     อนุมานจากลักษณะสามัญไปหาลักษณะพิเศษ เช่น สิ่งที่ถูกกระทำย่อมต้องมีผู้กระทำ
เห็นรูปภาพแล้วอนุมานถึงว่าต้องมีช่างภาพ
๖.     อนุมานจากลักษณะที่หักออกไปหาลักษณะที่ยังเหลืออยู่ เช่น เรารู้มุม ๒ มุม ในรูป
สามเหลี่ยม ย่อมอนุมานถึงมุมที่สามได้ (หรือเรา รู้ว่า เส้น ก และ ข เมื่อไม่ยาวและสั้นกว่ากัน           ก็อนุมานได้ว่าต้องเท่ากัน)
๗.     อนุมานจากสิ่งที่รองรับลักษณะที่หักออกไปหาสิ่งที่รองรับลักษณะที่เหลืออยู่ เช่น
การที่ นายก. ไม่อยู่บ้าน อนุมานได้ว่า นาย ก. ต้องอยู่ในที่อื่น หรือการที่ไม่มีอาการปรากฏของไข้ อนุมานได้ว่า การกำเริบของเชื้อโรค ได้ถูกขจัดแล้ว เป็นต้น
          หมายเหตุ  อนุมานประมาณนี้ ปรัชญานยายะของอินเดียถือว่า เป็นที่เกิดความรู้ได้อีกวิธีหนึ่ง แต่พุทธปรัชญาจะยอมรับความจริง จากวิธีการดังกล่าวนี้ ก็ต่อเมื่อบทสรุปสอดคล้อง หรือไม่ขัดแย้งกับประจักษ์ประมาณเท่านั้น

เปรียบเทียบญาณวิทยา
๓)  ศัพท์ประมาณ
          คำว่า ศัพท์ ในหลักฐาณวิทยาของปรัชญาตะวันออก โดยความหมายที่แท้จริงแล้ว หมายถึง คำพูดของผู้ที่รู้ประจักษ์แล้ว หรือคำพูดของผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เช่น พุทธพจน์ เป็นต้น แต่คำพูดของคนอื่นเช่นพระอรรถกถาจารย์หรือพระฎีกาจารย์ ไม่ถือเป็นศัพท์ เป็นเพียงการอธิบายหรือ การขยายความเท่านั้น นอกจากนี้ศัพท์ประมาณยังมีหลักที่ควรสังเกตที่สำคัญอีก ๔ ประการ จึงจะถือว่าเป็นที่มาของความรู้ได้ คือ

๑.     น้ำหนักความหมายหรือศักติของคำ
๒.     คำนั้นเป็นไปตามเกณฑ์ของหลักไวยากรณ์
๓.     คำนั้นมีสัมพันธภาพกับคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
๔.     ความประสงค์ของผู้พูดที่ดีงาม

๔)    อุปมาณประมาณ หมายถึง เครื่องมือที่ทำให้เกิดความรู้ขึ้นได้ โดยอาศัยลักษณะที่
คล้ายคลึงกันระหว่างสิ่งของสองสิ่ง เช่น อาศัยความคล้ายคลึงระหว่างม้าที่เรารู้แล้ว กับสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่พบใหม่ แต่ลักษณะคล้ายคลึงกับม้า จึงเกิดความรู้สึกว่านั้นคือม้าลาย
๕)    อารถบัตติ หมายถึง การตั้งสมมติฐานที่นำไปสู่ความรู้ได้ (อารถ = ข้อเท็จจริง, ปัตติ =
สมมติฐาน) หรือนัยหนึ่งหมายถึง การตั้งข้อสมมติฐานจากข้อเท็จจริงที่อธิบายไม่ได้หรือไม่ประจักษ์ เช่น ไม่เคยเห็นคนอ้วนรับประทานอาหารในเวลากลางวันเลย เราก็ตั้งสมมติฐานได้ว่า เขาจะต้องรับประทานอาหารในเวลากลางคืน เป็นต้น เพราะถ้ามิฉะนั้น เราไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมเขาจึงอ้วน
๖)    อนุปลัพธิ  หมายถึง   ความรู้ที่เกิดขึ้นโดยวิธีการที่ประสาทสัมผัสไม่ได้รับรู้สิ่งนั้นเลย
แต่บุคคลที่เกิดความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นได้ เช่น มีพระเมรุที่ท้องสนามหลวงในอดีต แต่ปัจจุบันเรารับรู้ว่าไม่มีพระเมรุนั้นแล้ว เป็นต้น ซึ่งความรู้ชนิดนี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากวิธีการทั้ง ๕ ที่ได้กล่าวมาแล้ว

หมายเหตุ
          ประมาณทั้ง ๓ วิธี คือ อุปมาณ อารถปัตติ และอนุปลัพธิ เป็นวิธีที่พุทธปรัชญาไม่ยอมรับ เพราะถือว่าสงเคราะห์เข้าได้ในวิธีการทั้ง ๓ ข้างต้นวิธีใดวิธีหนึ่งได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ พุทธปรัชญายังได้เน้นถึงแหล่งเกิดความรู้ไว้อีก ๓ ลักษณะ คือ
๑)    ความรู้เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนในรูปแบบทั่วไป (สุตมยปัญญา)
๒)    ความรู้ที่เกิดจากการใช้ความคิดพิจารณาตริตรองด้วยจิตใจที่สงบมั่นคง (จินตามย
ปัญญา)
๓)    ความรู้ที่เกิดจากกรรมวิธีพิเศษจากการพัฒนาการทางจิตด้วยอาศัยสมถะและวิปัสสนา
(ภาวนามยปัญญา)
          ประการสำคัญ พุทธปรัชญามิได้สอนให้โอ้อวดหรือยึดมั่นในสิ่งที่รู้แล้ว แต่เดือนให้มีจิตใจปล่อยวางเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง เพื่อจะได้บรรลุถึงความรู้แจ้งเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง เพื่อจะได้บรรลุถึงความรู้แจ้งเป็นอิสระ และมีสันติสุขที่แท้จริง

          มาหฺปรยายะ คือ ความรู้ที่สามารถกำหนดใจผู้อื่นได้ ความรู้ชนิดนี้ตรงกับโทรจิตของจิตวิทยาสมัยใหม่ บางคนมีขีดความสามารถสูงในการส่งกระแสจิตไปยังอีกคนหนึ่ง ทำให้คนนั้นทราบแนวความคิดของตนได้ โดยส่งความรู้เข้าไปในจิตของผู้นั้น ความรู้ชนิดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการบำเพ็ญโยคะหรือ ตบะ ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องใช้สมาธิแก่กล้ามาก
          เกวลัชญาณ คือ ความรู้โดยสิ้นเชิง หรือเรียกว่า ความรู้ยอดเยี่ยม เป็นความรู้ที่สมบูรณ์ และสูงสุด เป็นความรู้ที่ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสภาวะที่เป็นจริงทุกอย่าง จนทำให้กิเลสตัณหาหมดไป และเข้าถึงเกวละ (ไกวัล) คือ นิระวาณะ (นิพพาน)
          ความรู้ชนิดนี้จะได้จากวิญาณสัมบูรณ์ เมื่อหลุดพ้นจากพันธนาการของกรรม ปรัชญาเชนกล่าวว่า มีธรรมชาติเป็นอนันต์อยู่กับสภาพที่แท้จริง ไม่มีความแตกต่างทางด้านการเวลา เช่น อดีต ปัจจุบัน และอนาคต อยู่ในเรื่องความรู้โดยสิ้นเชิงนี้ เพราะมันสามารถเข้าใจในสภาพแท้จริงในความสัมบูรณ์ และอนันต์ได้เอง
          ปโรกษะ ความรู้โดยอ้อม เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้โดยอาศัยสื่อกลาง ความรู้ประเภทนี้ยังแบ่งออกไปได้อีก ๒ ชนิด คือ
๑.       มติชญาณ คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสาทสัมผัส ประสบการณ์ เหตุผล และการ
อนุมาน
๒.       ครุติชญาณ คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการบอกเล่าของผู้อื่น จากการฟัง จากการอ่าน
ตำราการศึกษาเล่าเรียน และได้จากพยานหลักฐาน
          ปรัชญาเชนเป็นปรัชญาสำนักหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาจารวากเกี่ยวกับทฤษฎีความรู้ที่จารวากกล่าวว่า ประสบการณ์จากการสัมผัสเท่านั้นที่ให้ความรู้ที่แท้จริงความรู้ที่ได้จากแหล่งอื่นๆ เช่น ความรู้ที่ได้จากการอนุมาน หรือจากคัมภีร์หรือสูตรต่าง ๆ เป็นความรู้ที่เชื่อถือไม่ได้ทั้งสิ้น ปรัชญาเชนวิจารณ์ว่าถ้าเราคัดค้างว่าความรู้ที่ได้จากการอนุมาน หรือจากตำราหรือจากคำบอกเล่าของผู้อื่นไม่เป็นไปตามความรู้ที่แท้จริงหรือเชื่อไม่ได้ แล้ว เราก็น่าสงสัยความรู้เกิดจากประสาทสัมผัสเช่นเดียวกัน เพราะว่าบางครั้งความรู้จากประสาทสัมผัสที่ย่อมเกิดผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน เช่น ในเวลาที่เรานั่งรถไฟในขณะที่มันกำลังวิ่ง เราจะมองเห็นต้นไม้ข้างทางรถไฟวิ่งตามกันเป็นทิวแถว แต่พอรถไฟหยุดวิ่ง เราก็ไม่เห็นต้นไม้วิ่งเลย นี่เองที่แสดงให้เห็นว่าประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสหลอกเราได้เหมือนกัน
          ปรัชญาเชนยอมรับว่า ความรู้ที่ได้จากประสาทสัมผัสก็ดี ความรู้จากการอนุมานก็ดี และความรู้ที่ได้จากการบอกเล่าของผู้อื่น และจากคัมภีร์หรือตำรับตำราก็ดี ก็เป็นความรู้ชนิดหนึ่ง แต่ปรัชญาเชนกล่าวว่า การที่ความรู้เหล่านั้นจะเป็นความรู้ที่แท้จริงหรือเชื่อถือได้ ก็ต่อเมื่อใช้หลักการที่เหมาะสมเข้ามาประกอบ เช่น ความรู้จากการอนุมานจะเป็นความรู้ที่แม่นยำถูกต้องก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบทางตรรกศาสตร์อย่างถูกต้องเท่านั้น ความรู้ที่ได้จากการบอกเล่าของผู้อื่นจะเป็นความรู้ที่แท้จริงได้ ก็ต่อเมื่อผู้บอกเล่าเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือได้ เช่น เป็นสัพพัญญูบุคคล หรือ เป็นนักบุญผู้เข้าถึงความหลุดพ้นแล้ว และความรู้ที่ได้จากการอ่านตำรับตำราก็เช่นเดียวกัน จะเป็นความรู้ที่แท้จริงน่าเชื่อถือได้ ก็ต่อเมื่อเป็นคัมภีร์หรือตำรับตำราที่เป็นการบันทึก หรือเขียนขึ้นจากแหล่ง หรือบุคคลที่เชื่อถือได้เท่านั้น เช่น เป็นรจนาของสัพพัญญูบุคคล เป็นต้น
          นอกจากการแบ่งความรู้ออกเป็น ๒ ประเภท คือ ความรู้โดยตรง และความรู้โดยอ้อม แบบข้างต้นแล้วปรัชญาเชนยังได้แบ่งความรู้ไว้อีกแบบหนึ่ง คือ ประมาณะและนยะ
๑.     ประมาณะ หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามลักษณะที่แท้จริงของมัน
๒.     นยะ หมายถึง ความรู้ในความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นหรือแง่อื่น ๆ ของตัวมันเอง
ปรัชญาเชนถือว่า ความจริงทุกอย่างนั้นมีลักษณะสัมพัทธ์  คือ  มันจะเป็นความจริงได้ด้วย
การอาศัยสิ่งอื่น ๆ หรือขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นที่มันเกี่ยวข้อง ที่เป็นดังนี้ก็เพราะ มันไม่ได้เป็นความจริงที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง

ทฤษฎีความเป็นสิ่งสัมพัทธ์ของความรู้
          ปรัชญาเชน กล่าวว่า ความจริง หรือสิ่งที่แท้จริงนั้น เป็นสิ่งที่มีนัยหรือแง่ต่าง ๆ มากมาย บรรดานัยหรือแง่ต่าง ๆ เหล่านั้น เรารู้ได้เพียงบางนัยหรือบางแง่เท่านั้น เราไม่สามารถรู้ทั้งหมดได้ และแง่ที่เรารู้นั้นสัมพันธ์กับแง่อื่น ๆ อีก เพราะเหตุที่ความรู้ในแง่หนึ่ง มีความสัมพันธ์กับแง่อื่นนี่เอง ความรู้จึงเป็นสิ่งสัมพัทธ์
          ปรัชญาเชน กล่าวว่า คำพูดที่มีความหมายชัดเจนในแต่ละประโยคนั้น จะให้ความรู้แก่เราในสิ่งที่เราพูดถึงเพียงบางแง่เท่านั้น เราไม่สามารถปฏิเสธ หรือยืนยันเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เด็ดขาดลงไปได้ ทั้งนี้ก็เพาะไม่มีอะไรแน่นอนเกี่ยวกับสิ่งที่มีแง่ต่าง ๆ นับไม่ถ้วน การปฏิเสธหรือยืนยันแยกจากกันอย่างเด็ดขาดถือว่าผิดทั้งสองอย่าง เพราะการปฏิเสธหรือการยืนยันเป็นสิ่งสัมพัทธ์
          นั่นคือ การปฏิเสธย่อมบ่งถึงการยืนยัน ในทำนองเดียวกันการยืนยันย่อมบ่งถึงการปฏิเสธญาณวิทยา หรือทฤษฎีความรู้
          ปรัชญาอชิตะ เกสกัมพล กล่าวว่าความรู้เกิดจากประสาทสัมผัส ความรู้สึกนึกคิดเกิดจากการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ตามทัศนะของปรัชญาสำนักนี้ จิตวิญญาณหรืออาตมันมิได้เป็นสิ่งที่แท้จริง มันไม่ได้ดำรงอยู่ต่างหากจากกายอันเป็นวัตถุแต่อย่างใด หากแต่มันเกิดขึ้นอันเป็นผลพลอยได้จากการรวมตัวกันของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ซึ่งได้สัดส่วนกันเท่านั้น เมื่อวัตถุธาตุทั้ง ๔ นี้รวมกันเข้า ก็เป็นร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดก็เกิดมีขึ้น และเมื่อร่างกายดับสลายลงในเวลาตาย จิต และวิญญาณอันเป็นผลผลิตที่เป็นผลพลอยได้ นี้ก็ดับสลายสูญหายไปพร้อมกับการดับของร่างกายที่ตายนั้น
อภิปรัชญา
          อภิปรัชาของอชิตะ เกสกัมพล เป็นระบบอุจเฉทวาท คือ เห็นว่ามนุษย์เมื่อตายแล้วก็ขาดสูญไม่มีการเกิดใหม่หรือภพหน้า หากจะเรียกตามแนวของปรัชญาในสมัยปัจจุบันก็เรียกว่า ปรัชญาฝ่ายวัตถุนิยม เพราะปรัชญาสำนักนี้ยืนยันว่า ความแท้จริงนั่นคือ ธาตุ ๔ โดยถือว่าธาตุทั้ง ๔ นี้เป็นวัตถุธาตุ เมื่อมารวมกันอย่างได้สัดส่วนก็เป็นร่างกาย จิตหรือวิญญาณก็เกิดจากการรวมกันข้าวของวัตถุธาตุทั้ง ๔ หรือเป็นผลผลิตจากการรวมตัวกันของธาตุ ๔ ความตายก็คือ การที่ธาตุทั้ง ๔ แยกออกจากกัน ส่วนที่เป็นธาตุดินก็แยกกลับคืนสู่ดิน ธาตุน้ำก็กลับคืนสู่น้ำ ธาตุลมก็กลับคืนสู่ลม และธาตุไฟก็กลับคืนสู่ไฟ ไม่มีอะไรเหลือให้รู้ว่าเป็นร่างกาย หรือร่างกายก็ไม่ปรากฏให้เป็นอีกต่อไป ในส่วนที่เป็นจิตและความรู้สึกนึกคิดที่เกิดจากการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ก็อันตรธานไปพร้อมกับการดับสลายของร่างกายคือ ธาตุ ๔ ไม่มีเหลืออยู่เลย จิตหรือวิญญาณหรืออาตมันที่เชื่อกันว่าเป็นอมตะเป็นสิ่งแท้จริง เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดรและเป็นเทพเจ้า
          อันที่จริง เรื่องของเทพเจ้า เรื่องของพระพรหม ก็เป็นเพียงสิ่งลึกลับที่คนเราคิดฝันขึ้นเราไม่เคยได้สัมผัส กระทบ ถูกต้องพระเจ้าเลย โลกเราเกิดขึ้นโดยการผสมของวัตถุธาตุตามภาวะของตนเอง ไม่มีพระเจ้าองค์ใดเป็นผู้สร้างขึ้นมาเลย ดังนั้น คนที่ประพฤติลัทธิพิธีกรรมทางศาสนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อความผาสุกในชีวิตนี้หรือเพื่อความผาสุกในสวรรค์หรือเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าโปรดปรานก็ตาม นั่นเป็นความโง่ของคนเหล่านั้นที่ยอมตนหึ้คนฉลาดต้มตุ๋นเราไม่ควรเชื่อและไว้วางใจในคำสอนของคัมภีร์พระเวทและโดยวิธีที่ฉลาดแกมโกงนั่นเองศาสดาจารย์เหล่านั้นจึงเลี้ยงชีวิตตนบนหลังทายก (ผู้ให้) โดยหาประโยชน์ใส่ตนจากความโง่ของคนเหล่านั้น
          เกี่ยวกับสามัญผลว่า เมื่อข้าพองค์ถามเรื่องสามัญผล แต่อชิตะกลับไปตอบถึงเรื่องความขาดสูญเหมือนกับการถามเรื่องมะม่วง แต่กลับไปตอบเรื่องขนุน หรือถามเรื่องขนุนกลับไปตอบเรื่องมะม่วงคำตอบอชิตะ ดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
          ดูก่อนมหาบพิตร ท่านไม่มีผล การบูชา ไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมดี กรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดา ไม่มี สัตว์ที่เกิดเป็นโอปปาติกะไม่มี สมณะพราหมณ์ ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องโลกนี้และโลกหน้า ด้วยปัญญาอันยิ่งใหญ่ของตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้
          แจ้งไม่มีในโลก มนุษย์เป็นเพียงกาประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ (ธาตุ ๔) เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดินคืนสู่ดิน ธาตุน้ำคืนสู่น้ำ ธาตุลมคืนสู่ลม ธาตุไฟคืนสู่ไฟ อินทรีย์ทั้งหลายย่อมจางหายไปในอากาศคนทั้งหลายมีแคร่เป็นที่ ๕ จะหามเขาไป ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้ากลายเป็นกระดูกมีสีดุจสีนกพิราบ การเซ่นสรวงมีขี้เถ้าเป็นที่สุด ทานนี้คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางพวกที่พูดว่า ทานมีผล ล้วนแต่เป็นคำอันว่างเปล่า เป็นคำเท็จ คำเพ้อเจ้อ เพราะร่างกายแตกดับบุคคลทั้งหลายและบัณฑิตขาดสูญพินาศสิ้น ตายไปแล้วย่อมไม่มีการเกิดอีก
          จากข้อความข้างบนนี้ทำให้เราทราบถึงปรัชญาอชิตะ เกสกัมพล ว่าปรัชญาสำนักนี้เป็นระบบปรัชญาที่ปฏิเสธหรือเป็นปรัชญายืนยันความไม่มี (สิ่งที่แท้จริง) แต่จะยืนยันและยอมรับความมีอยู่ของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นว่าเป็นสิ่งมีอยู่จริง และเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ไม่มีการสูญสาย เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร สิ่งที่มองเห็นเป็นรูปร่าง ตัวตน ตามทัศนะของปรัชญาอชิตะ เกสกัมพล เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ปรัชญาสำนักนี้จึงยอมรับความมีอยู่ของโลกในแง่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น
          จากการศึกษาถึงทัศนะของปรัชญาอชิตะ เกสกัมพลแล้ว จะเห็นว่าเป็นปรัชญาประเภทวัตถุนิยมอย่างสุดโต่ง ซึ่งคล้ายคลึงกับปรัชญาจารวากมาก ปรัชญาทางพุทธศาสนาเรียกพวกคณาจารย์ทั้ง ๖ ซึ่งมีท่านอชิตะ เกสกัมพล รวมอยู่ด้วยว่า พวกมิจฉาทิฎฐิ คือ พวกเห็นผิดหรือมีทัศนะที่ผิด

ปรัชญาของปกุธะ กัจจายนะ
          ชีวประวัติของปกุธะ กัจจายะนะ ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้งว่าท่านเกิดเมื่อใด หรือมีชีวิตอยู่ในโลกนี้นานเท่าไร เราจึงไม่มีสามารถทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านผู้นี้ ที่เราทราบก็คือปกุธะ กัจจายนะ เป็นเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ซึ่งมีช่าอปรากฎอยู่ในบรดาคณาจารย์ทั้ง ๖ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ครูทั้ง ๖ และกล่าวกันว่าเป็นผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวประวัติบางตอนของปกุธะ กัจจายนะ ปรากฎอยู่ในคัมภีร์ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งกล่าวว่าปกุธะ กัจจายะ เกิดในสกุลพราหมณ์ คำว่า กัจจายนะ เป็นชื่อตระกูล บุคคลทั่วไปจึงเรียกว่า ปกุธะ กัจจายะนะ ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในสามัญผลสูตร ปกุธะ กัจจายะนะ เป็นอาจารย์ที่ถูกระบุชื่ออยู่ในอันดับที่ ๔ คือ ปูรณะกัสสปะ, มักขลิ โคศาล, อชิตะ เกสกัมพล, ปกุธะ กัจจายนะ, นิครนถ์ นาฎบุตร และสัญชัย (ปริพาชก) และเป็นอาจารย์คนหนึ่งที่พระเจ้าอาชาตศักตรูกษัตริย์คลองแคว้นมคธ ได้เสด็จเข้าไปหา เพื่อถามปัญหาบางประการ คำถามที่ครั้งหนึ่งพระองค์ได้ถามปกุธ กัจจายนะ คือเรื่องสามัญผล (ผลที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตของสมณะหรือนักบวช)

ทัศนะทางปรัชญาของปกุธะ กัจจายนะ
อภิปรัชญา
          ปรัชญาของปกุธะ กัจจายนะ กล่าวว่า ความแท้จริงมีอยู่ ๗ อย่าง หรือ ๗ ประการ เรียกว่า สภาวะ ๗ กอง คือ
          ๑.  ดิน                    ๒.  น้ำ
          ๓.  ลม                    ๔.  ไฟ
          ๕.  สุข                    ๖.  ทุกข์
          ๗.  ชีวะ
          สสารทั้ง ๗ ประการข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เกิดมาเองไม่มีใครสร้าง ไม่สูญสลายเป็นอยู่ชั่วนิรันดร ปรัชญาปกุธะ ให้ทัศนะว่า สภาวะทั้ง ๗ กองนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เบียดเบียนกันไม่ขัดแย้งกัน และสามารถอยู่รวมกันได้ แต่สภาวะทั้ง ๗ กองนี้ หากเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็เกิดจากการรวมตัวกันของสภาวะเพียง ๔ กอง คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ
          เนื่องจากปรัชญาปกุธะ กัจจายนะ ไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้ในคัมภีร์ ในระยะหลังคำสอนของปรัชญาสำนักนี้ได้ค่อย ๆ เลือนหายไป การศึกษาค้นคว้าปรัชญาของปกุธะ กัจจายนะส่วนใหญ่จึงได้อาศัยหลักฐานหรือข้อมูลจากปรัชญาสำนักอื่น ที่ได้กล่าวว่ากดถิงถึงปรัชญาปกุธะไว้เป็นบางตอน ดังนั้น รายละเอียดเกี่ยวกับทัศนะของปรัชญาสำนักนี้จึงไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร
          ทัศนะทางปรัชญาของปกุธะ กัจจายนะ ที่นับว่าสำคัญตอนหนึ่งพบในสามัญผลสูตรแห่งทีฆนิกาย ตอนที่ว่า ด้วยพระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทรงเล่าถึงการที่พระองค์ได้ไปหาปกุธะ กันจายนะ และได้ถามปัญหาเรื่องสามัญผลแห่งการดำเนินชีวิตของสมณะหรือนักบวชว่าจะได้รับผลในชีวิตนี้อย่างไรบ้าง ปกุธะ ไม่ทูลตอบปัญหานี้โดยตรง แต่กลับแสดงทัศนะของตนว่า
          ดูก่อนมหาบพิตร สถาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ (สร้าง) ไม่ใช่สิ่งที่ใครได้ทำไว้ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครบัญชาให้ใครเนรมิตไว้ เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กอง เหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์หรือทั้งสุขทั้งทุกข์แก่กันและกัน สภาวะ ๗ กองเหล่านั้นเป็นไฉน ? คือกองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุขทุกข์ มีชีวะเป็นที่ ๗ สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครได้ทำไว้ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครบัญชาให้ใครมาเนรมิตไว้ เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน ผู้ฆ่าเองก็ดี           ผู้ใช่ให้คนอื่นฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินเองก็ดี ผู้กล่าวให้คนอื่น ได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความหมายเองก็ดี ผู้ทำให้คนอื่นเข้าใจความหมายก็ดี ไม่มีใครสภาวะ ๗ กองนั้น เพราะบุคคลที่เอาศาสตราที่คนกล้ามาตัดศีรษะกันก็ไม่เชื่อว่าใครปลงชีวิตใคร เป็นแต่ศาสตราสองเข้าไปตามช่องแห่งสภาวะ ๗ กองเท่านั้น
          ปรัชญาของปกุธะ กัจจายะ มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับปรัชญาของอชิตะ เกสกัมพลในแง่ของทัศนะที่เห็นพ้องกันในเรื่องของธาตุ ๔ แต่แตกต่างกันตรงที่ปกุธะได้เพิ่มสิ่งที่แท้จริงเข้ามาอีก ๓ สิ่งคือ สุข ทุกข์ และชีวะ เพราะปกุธะ ถือว่า สุขทุกข์ เป็นสิ่งที่แท้จริง คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เช่นเดียวกับธาตุ ๔ จากทัศนะของปกุธะ นี้ก็แสดงว่าเขาตีความคำว่า สุข และ ทุกข์เป็นสิ่งที่มีลักษณะเป็นปรมาณูเป็นปรมาณูหรือวัตถุธาตุเช่นเดียวกันกับธาตุ ๔ นั่นเอง ซึ่งมันจะมีอยู่ด้วยตัวของมันเองมาแต่ดั้งเดิม ไม่มีใครสร้างไม่มีใครสามารถทำลายมันได้ คำว่า ชีวะ ซึ่งเป็นสิ่งแท้จริงในสภาวะ ๗ กองนั้น ปกุธะ ได้ให้ความหมายว่า หมายถึง สภาวะที่ทำให้ชีวิตเกิดมีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ชีวะตามทัศนะของปกุธกก็เป็นสิ่งที่แท้จริง ไม่มีเปลี่ยนแปร และไม่แตกดับ เช่นเดียวกับสภาวะทั้ง ๖ กองดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ดี หากปกุธะ กัจจายนะ ให้ความหมายของคำว่า ชีวะ ในลักษณะดังกล่าวนั้นก็อาจกล่าวได้ว่า ชีวะจะต้องมีสภาพเป็นวัตถุหรือสสารเช่นเดียวกับธาตุทั้ง ๔ ด้วยหรืออาจจะมีสภาพเช่นเดียวกับอาตมัน (วิญญาณ) หรือชีวรตมันในคัมภีร์อุปนิษัทก็เป็นได้แต่ชีวะตามทัศนะของปกุธะอาจจะแตกต่างจากอาตมัน หรือชีวาตมันตรงที่จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เพราะปรัชญาปกุธะปฏิเสธในเรื่องกฎแห่งกรรมและการเกิดใหม่

จริยศาสตร์
          ปรัชญาปกุธะ ปฏิเสธเรื่องกฎของเหตุผล จึงเรียกปรัชญาสำนักนี้ว่า อิริยวาท คือปรัชญาที่กล่าวถึงการกระทำว่าไม่มีผลดังทัศนะของปกุธะเกี่ยวกับเรื่องของศีลธรรมตอนหนึ่งว่า ผู้ฆ่าเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินเองก็ดี ผู้กล่าวให้คนอื่นได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความหมายเองก็ดี ผู้ทำให้คนอื่นเข้าใจความหมายก็ดี ไม่มีในสภาวะ ๗ กองนี้
          เพราะว่าบุคคลที่นำเอาศาสตราที่คมกริบตัดศีรษะกัน ก็ไม่ได้ถือว่าใครปลงชีวิตใครเป็นเพียงแต่ศาสตราผ่านเข้าไปตามช่องแห่งสภาวะทั้ง ๗ กองเท่านั้น หากพิจารณาจากข้อความที่ปรัชญาของปกุธะกล่าวไว้ข้างบนนี้แล้ว ก็อาจจะตีความหรือถอดความออกมาได้ว่า เขากล่าวถึงสภาวะ ๗ กอง ในลักษณะของวัตถุหรือสสารที่ไร้ความรู้สึกนึกคิดโดยสภาพของมันเองแต่ละอย่าง แต่เมื่อสภาวะทั้ง ๗ กองนี้ มารวมกันอย่างได้สัดส่วนแล้วก็จะเกิดเป็นสิ่งที่มีชีวิตขึ้น เช่น มนุษย์ สัตว์ เป็นต้น ถึงแม้จะมีชีวิตก็ตาม ส่วนประกอบต่าง ๆ ของสิ่งที่มีชีวิตก็ยังคงเป็นวัตถุหรือสสารอยู่นั้นเองสำหรับจิตใจหรือวิญญาณตามทัศนะของปกุธะกัจจายนะ เป็นเพียงผลผลิตหรือเป็นผลพลอยได้จากการรวมตัวกันของสภาวะทั้ง ๗ กอง หรือสสารทั้ง ๗ อย่างดังกล่าว เพราะเหตุนี้ ปกุธะ กัจจายนะ จึงเป็นว่า ถ้ามีใครเอนดาบที่คมกริบไปตัดศีรษะของคนอื่นหรือแทงคนอื่นให้ตายก็ไม่ถือว่ามีผู้ฆ่าและผู้ที่ถูกฆ่า เพราะผู้ที่ตัดศีรษะหรือผู้ที่แทงก็เป็นวัตถุ และสิ่งที่ถูกตัดหรือถูกแทงก็เป็นวัตถุ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงเรื่องของวัตถุ คือ วัตถุใช้วัตถุแทงเข้าไปผ่านช่องว่างของวัตถุ จึงไม่มีผู้ฆ่าและผู้ที่ถูกฆ่า ดังนั้นกรรมและผลของกรรมจึงไม่มีเป็นการปฏิเสธทั้งเหตุ คือ กรรม (การกระทำ) และปฏิเสธทั้งผลของกรรมคือความดี ความชั่ว ถูก ผิด บุญ บาป สวรรค์ นรก ฯลฯ อย่างสิ้นเชิง


ทัศนะเกี่ยวกับการหลุดพ้น
          ปรัชญาปกุธ กัจจายะนะ กล่าว่า ความสุข ความทุกข์ เป็นสิ่งที่แท้จริง คงที่ไม่เปลี่ยนแปร ไม่ดับสลาย การที่จะขจัดความทุกข์ให้สิ้นไปแล้ว บรรลุโมกษะหรือความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้น เป็นความเห็นที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ปกุธะกล่าวว่า การมีขึ้นของสิ่งที่มีชีวิตก็เป็นเพียงการรวมตัวกันของสภาวะ ๗ กอง นั้น และการตายก็คือ การที่สภาวะ ๗ กองแยกออกจากกัน จิตใจหรือความรู้สึกนึกคิดที่ติดอยู่กับร่างกายอันเป็นผลผลิตของการรวมตัวกันของสภาวะ ๗ กอง หรือเป็นผลพลอยได้จากการรวมตัวดังกล่าว เมื่อมีการรวมกันของสภาวะจิตหรือความรู้สึกมันก็เกิดขึ้นด้วย แต่เมื่อสภาวะ ๗ กองนั้นมันแยกออกจากกันจิตหรือความรู้สึกมันก็หมดไป ไม่มีความรู้สึกนึกคิดที่จะเหลืออยู่อีก ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงไม่มีคำว่า โมกาะ หรือ การหลุดพ้น เมื่อไม่มีการรวมและผลของกรรมตามทัศนะของปกุธะแล้ว การพูดถึงเรื่องการหลุดพ้น ความชั่ว ความดี ถูกผิด ก็เป็นอันจบลงโดยไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เพราะสิ่งอื่น ๆ ไม่มีจริง นอกจากสภาวะ ๗ กองเท่านั้นที่ ปกุธะยอมรับว่ามีจริง

ปรัชญาเชน
          ความหมายของคำว่า เชน หรือ ไชนะ
          คำว่า เชน หรือ ไชนะ เป็นชื่อเรียกศาสนาตามสำเนียงภาษาสันสกฤต มีรากศัพท์มาจากคำว่า ชินะ แปลว่า ชนะหรือผู้พิชิต หมายถึง บุคคลผู้พิชิตกิเลสตัณหาได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว เป็นคำที่ใช้กับชีวะ (วิญญาณ) ที่หลุดพ้นแล้ว โดยการพิชิตกิเลสตัณหาและกรรมทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด

อภิปรัชญา
          อภิปรัชญาของเชนมีลักษณะเป็นพหุสัจนิยม (realistic Realism) หรือสัมพัทธสัจนิยม (Relativistic) ซึ่งมีทฤษฎีที่สำคัญเรียกว่า อเนกันตวาท หมายถึง ทฤษฎีที่ว่าด้วยความมากหลายแห่งสิ่งที่แท้จริง
          ปรัชญาเชนให้ทัศนะว่า อันติมะสัจจุ (Ultimate Reality) มีโครงสร้างสลับซับซ้อนการมองสภาพแท้จริงสูงสุด จำเป็นต้องมองจากหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ มุม จึงจะเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของมันได้ การมองปัญหาเพียงด้านเดียวหรือมองด้านใดด้านหนึ่งของสภาพแท้จริง โดยไม่คำนึงถึงด้านอื่น ๆ ก็เปรียบเสมือนคนตาบอดคลำช้าง
          ปรัชญาเชนกล่าวว่า สภาพแท้จริง (Reality) คือ ความเป็นนิจนิรันดรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ความเป็นเอกลักษณ์ท่ามกลางอเนกลักษณ์ และความเป็นเอกภาพ (Unity) ท่ามกลางพหุคุณภาพ (MJultiplicty) ปรัชญาเชนได้ให้นิยมคำว่า สภาพแท้จริง ไว้ว่า สภาพแท้จริงคือธรรมชาติของปรากฏการณ์ธรรมชาติของการสาบสูญ และธรรมชาติของความถาวร ทั้งสามประการนี้รวมกัน ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติจะต้องมีลักษณะของทั้งสามประการดังกล่าวแล้ว

ปรัชญาเชนได้แบ่งสภาพแท้จริงตามธรรมชาติออกเป็น ๒ ประการ คือ
          ชีวะ ได้แก่ วิญญาณอันมีสัมปชัญญะหรือพิชาน (Conscious Object)
          อชีวะ ได้แก่ สิ่งที่มิใช่วิญญาณและปราศจากสัมปชัญญะ (Non-Conscious Object) ชีวะและอชีวะทั้งสองเป็นสภาพที่มีอยู่ ไม่มีใครสร้าง เป็นสิ่งที่แท้ ไม่สูญสลายและเป็นอยู่ชั่วนิรันดร
          ชีวะ ในปรัชญาเชน หมายถึง วิญญาณอย่างเดียว มิได้หมายรวมไปถึงร่างกายด้วยแม้ร่างกายเป็นสิ่งสถิตอยู่ของวิญญาณก็ตาม ชีวะ ตามภาษาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เรียกว่า อินทรีย์ ตามทัศนะของปรัชญาเชน-ชีวะหรือวิญญาณมีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง
          สากลจักวาล มีทั้งสิงสถิตอยู่ในร่างกาย และล่องลอยอยู่โดยลำพังไม่อาศัยร่างกาย ปรัชญาเชนได้แบ่งชีวะออกเป็น ๒ ชนิด คือ
          มุกตชีวะ คือ ชีวะที่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏแล้ว
          พัทธชีวะ คือ ชีวะที่ยังไม่หลุดพ้น ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอีกต่อไปสำหรับพัทธชีวะนี้ยังแยกออกไปได้อีก ๒ ประเภท คือ
          ๒.๑  ตรสะ คือ ชีวะประเภทเคลื่อนไหวได้
          ๒.๒  สถารวะ คือ ชีวะประเภทเคลื่อนไหวไม่ได้
          ๒.๓  ชีวะประเภทตรสะ คือ ชีวะประเภทเคลื่อนไหวได้ ยังสามารถแบ่งออกไปได้อีก ๔ ชนิด ตามความสมบูรณ์มากน้อยของแต่ละชนิดคือ
                   ๒.๓.๑  ชีวะชนิดที่มีประเภทสัมผัสเพียง ๒ ทาง คือ ทางกายสัมผัสและทางชิวหาสัมผัส กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ชีวะที่รับรู้ความรู้สึกทางกายและรับรู้รสทางลิ้น เช่น หนอนชนิดต่าง ๆ
                   ๒.๓.๒  ชีวะชนิดที่มีประสาทรับสัมผัสได้ ๓ ทาง คือ ทางกาย ทางลิ้น ทางจมูก ชีวะชนิดที่สองนี้พิเศษกว่าชนิดแรก ซึ่งไม่เพียงแต่รู้สึกได้ทางกายและรู้รสได้ทางลิ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถรู้สึกในกลิ่นได้ทางจมูกอีกด้วย ชีวะชนิดที่สองนี้ได้แก่ พวกมดชนิดต่าง ๆ
                   ๒.๓.๓  ชีวะชนิดที่มีประสาทสัมผัสได้ ๔ ทาง คือ ทางกาย ทางลิ้น ทางจมูก และทางตา ชีวะชนิดที่ ๓ นี้ นอกจากจะรับสัมผัสได้เช่นเดียวกับชนิดที่สองแล้ว ยังสามารถมองเห็นได้ด้วย ชีวะชนิดที่สามนี้ ได้แก่ พวกผึ้ง แมลงภู่ เป็นต้น
                   ๒.๓.๔  ชีวะชนิดที่มีประสาทสัมผัสได้ถึง ๕ ทาง คือ ทางกาย ทางลิ้น ทางจมูก ทางตา และทางหู ชนิดที่สี่นี้พิเศษกว่าชนิดที่สาม ได้แก่ มนุษย์ แต่ปรัชญาบางสำนักยังเพิ่มประสาทอีกชนิดหนึ่งคือ ใจ ซึ่งรับอารมณ์เรียกว่า ประสาทหก

ทฤษฎีความรู้
ปรัชญาเชนแบ่งความรู้ออกเป็น ๒ ประเภท คือ
          - อุปโรกษะ ได้แก่ ความรู้โดยตรง
          - ปโรกษะ ได้แก่ ความรู้โดยอ้อม
          ๑.  อปโรกษะ  ความรู้โดยตรง เป็นความรู้ที่เกิดจากจิตซึ่งเรียกว่า ความรู้ที่เกิดจากภายในความรู้ประเภทนี้ยังแบ่งออกได้อีก ๓ ชนิด คือ
                ๑.๑  อวิชญาณ  คือความรู้ในเหตุที่ปรากฏในอดีต เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากอำนาจของจิต ซึ่งอำนาจจิตทำให้สามารถมองเห็นสิ่งของหรือเหตุการณ์ในสถานที่ใด ๆ หรือในช่วงระยะเวลาที่ยังมาไม่ถึงอีกนาน ความรู้ชนิดนี้นักปราชญ์ในลาธิเชนมีความเห็นว่า อำนาจจิตอาจมีหลายอย่าง บางคนเกิดมีอำนาจจิตเช่นนี้ บางคนอาจมีอำนาจจิตเช่นนั้น ภายหลังได้พัฒนาความสามารถทางจิตแล้ว ความรู้ชนิดนี้ก็สามารถคลาดเคลื่อนได้ บุคคลที่สามารถบรรลุอวธิชญาณนี้จะสามารถตีพิมพ์ มองเห็นสรรพสิ่งใดได้ทั้งในอดีตปัจจุบัน และอนาคต
                ๑.๒  มหหฺปรยายะ  คือ ความรู้ที่สามารถกำหนดใจผู้อื่นได้ ความรู้ชนิดนี้ตรงกับโทรจิตของจิตวิทยาสมัยใหม่ บางคนมีขีดความสามารถสูงในการส่งกระแสจิตไปยังอีกคนหนึ่ง ทำให้คนนั้นทราบแนวความคิดของตนได้ โดยส่งความรู้เข้าไปในจิตของผู้นั้น ความรู้ชนิดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการบำเพ็ญโยคะหรือตบะ ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องใช้สมาธิแก่กล้ามาก
                ๑.๓  เกวลัชญาณ คือ ความรู้โดยสิ้นเชิง หรือเรียกว่า ความรู้ยอดเยี่ยม เป็นความรู้ที่สมบูรณ์และสูงสุด เป็นความรู้ที่ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสภาวะที่เป็นจริงทุกอย่างจนทำให้กิเลสตัณหาหมดไปและเข้าถึงเกวละ (ไกวัล) คือ นรวาณะ (นิพพาน)
          ความรู้ชนิดนี้จะได้จากวิญญาณสมบูรณ์ เมื่อหลุดพ้นจากพันธนาการของกรรมปรัชญาเชนกล่าวว่ามีธรรมชาติเป็นอนันต์อยู่กับสภาพแท้จริง ไม่มีความแตกต่างทางกาลเวลา เช่น อดีต ปัจจุบันและอนาคตอยู่ในเรื่องความรู้โดยสิ้นเชิงนี้ เพราะมันสามารถเข้าใจในสภาพแท้จริงในความสัมบูรณ์และอนันต์ได้เอง
          ปโรกษะ  ความรู้โดยอ้อม เป็นความรู้ที่เกิดจากการรับรู้โดยอาศัยสื่อกลางความรู้ประเภทนี้ยังแบ่งออกไปได้อีก ๒ ชนิด คือ
                ๒.๑  มติชญาณ คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสาทสัมผัส ประสบการณ์เหตุผล และการอนุมาน
                ๒.๒  ศรุติชญาณ คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการบอกเล่าของผู้อื่น จากการฟังการอ่านจากตำรา การศึกษาเล่าเรียน และได้จากพยานหลักฐาน


          จึงได้สรุปว่า การปฏิเสธย่อมบ่งถึงการยืนยัน และการยืนยันย่อมบ่งถึงการปฏิเสธแต่จุดเริ่มต้นของการปฏิเสธและการยืนยันนั้นมิใช่จุดเดียวกัน เพราะมันสถานะตรงกันข้ามเมื่อการปฏิเสธเริ่มขึ้น การยืนยันซึ่งเป็นสถานะตรงกันข้ามก็เริ่มมีขึ้น การเริ่มต้นมีขึ้นของการยืนยันก่อให้เกิดผลในทำนองเดียวกัน

จริยธรรม
          ปรัชญาเชนได้วางหลักการปฏิบัติไว้ ๗ ขั้น เริ่มตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสุดท้าย ซึ่งถือว่า เป็นขั้นสูงสุด หรือเรียกว่า เป็นความดีสูงสุด ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ขั้นที่ ๑ หลักปฏิบัติในขั้นที่ ๑ นี้ ปรัชญาเชนได้กำหนดให้เป็นข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานของชีวิต โดยแบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือ
อนุพรต ๕ คือ ข้อปฏิบัติขึ้นพื้นฐานสำหรับคฤหัสถ์ มีดังนี้
                ๑.๑  อหิงสา คือ การไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายชีวิตสัตว์ทุกชนิด
                ๑.๒  สัตยะ คือ การมีความสัตย์ ได้แก่ การไม่กล่าวเท็จ กล่าวแต่ความจริง
                ๑.๓  สัตเตยะ คือ การเว้นจากการลักขโมย รวมทั้งการหลบเลี่ยงภาษี ไม่ใช้สอยหรือทำเงินปลอม ไม่โกงตาชั่ง
                ๑.๔  พรหมริยะ คือ ไม่ประพฤติผิดทางกาม
                ๑.๕  ปริคครหะ คือ การไม่โลภ หมายถึง ความต้องการในวงจำกัด

          ๒.  มหาพรต ๕ คือ ข้อปฏิบัติพื้นฐานของนักบวชใจลัทธิเชน มีลักษณะคล้ายกับอนุพรต ๕ แต่มีความหมายกว้างกว่า และการปฏิบัติที่เคร่งครัดและเข้มงวดกว่า มีดังนี้
                ๒.๑  อหิงสา คือ การไม่เบียดเบียนและไม่ทำลายชีวิตสัตว์ทุกประเภท ทางกาย วาจา และใจ
                ๒.๒  สัตยะ คือ ความซื่อสัตย์
                ๒.๓  อัสเตยะ คือ ไม่ลักทรัพย์
                ๒.๔  พรหมจริยะ คือ การงดเว้นทางกามหรือทางประเพณีทุกรูปแบบ ทั้งกาย วาจา และใจ
                ๒.๕  อปริครหะ คือ การสละโลก ไม่ยึดและไม่ติดในวัตถุและอารมณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น
         


          ขั้นที่ ๒  ต้องมีความสำรวมทุกอย่าง ทั้งการพูด การเดิน การรับทานจากผู้อื่น
          ขั้นที่ ๓  ต้องควบคุมตนเองให้ปกติเรียบร้อยทั้งกาย วาจา และใจ
          ขั้นที่ ๔  ต้องประพฤติปฏิบัติธรรม ๑ ประการ คือ
๑.     สุภาพอ่อนโยน
๒.     เที่ยงตรง
๓.     ซื่อสัตย์
๔.     สะอาด
๕.     ขันธ์  (ความอดทน)
๖.     บำเพ็ญตบะ
๗.     เสียสละ
๘.     ไม่ลุ่มหลงด้วยอำนาจกิเลส
๙.     ไม่เสพเมถุน
๑๐.           ให้อภัย
ขั้นที่ ๕  ต้องหมั่นเข้าฌานสมาบัติ
ขั้นที่ ๖  ต้องอดทนต่อความหิวกระหาย อดทนต่อความร้อน ความหนาว และความลำบาก
ต่าง ๆ
ขั้นที่ ๗  มีความบริสุทธิ์ปราศจากความโลภทั้งปวง

หลักปฏิบัติของศาสนาเชนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสอนให้ผู้นับถือหลักสัมมาจาริตตะ (ความ
ประพฤติชอบ) โดยแบ่งหลักธรรมออกเป็น ๒ ประเภท ตามกลุ่มของผู้ปฏิบัติ คือ
ก.      อนคารธรรม คือ ธรรมของผู้ไม่ครองเรือน (หลักปฏิบัติของคฤหัสถ์)
ข.      อคารธรรม คือ ธรรมของผู้ครองเรือน (หลักปกิบัติของคฤหัสถ์)

ก.      อนคารธรรม เป็นหลักปฏิบัติของนักบวชหรือบรรชิต ได้แก่
๑.     ปาณาอิวายาโอ   เวรมณํ  เว้นจากการฆ่า การเบียดเบียนสัตว์
๒.     มุสาวายโอ         เวรมณํ  เว้นจากการพูดเท็จ
๓.     อทต (ตาทาณา)  เวรมณํ  เว้นจากการลัก ฉ้อโกงสิ่งของ
๔.     เมหุณาโอ        เวรมณํ  เว้นจากการสเพเมถุน
๕.     ปริค (คหาโอ)    เวรมณํ  เว้นจากการหวงแหน (ไม่เรียกสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นของตน สละ
โลภ โดยไม่ใช่ดีกับสิ่งต่าง ๆ

๖.     ราอิโภยณาโอ     เวรมณํ  เว้นจากการรับประทานอาหารนาตรี (ไม่ใช่เริ่มแต่เที่ยงวัน
ไป)
ข.      อคารธรรม เป็นหลักปฏิบัติของผู้ครองเรือน (คฤหัสถ์) มี ๑๒ ข้อ โดยแบ่งออกเป็น ๓
หมวด ได้แก่

หมวดที่ ๑  อนุวย (อนุพรต) มี ๕ ข้อ คือ
          ๑.  ถูลาโอ ปาณาอิวายโอ       เวรมณํ  เว้นจากปาณาติบาตอย่างหยาบ
          ๒.  ถูลาโอ มุสาวายาดอ         เวรมณํ  เว้นจากการกล่าวเท็จอย่างหยาบ
          ๓.  ถูลาโอ อทิณ (ณาทานาโอ เวรมณํ  เว้นจากการลัก ฉ้อสิ่งของอย่างหยาบ
          ๔.  สาทารสํโตโส สันโดษ (ยินดีเฉพาะ) ในภรรยา สามี ของตน
          ๕.  อิจ (ฉาปริมาณํ รู้จักประมาณในการอยากได้ (ควบคุมความอยากให้อยู่ในระดับพอดี)

หมวดที่ ๒  คุณว (เว(ย (คุณพรต) มี ๓ ข้อ คือ
          ๖.  อณฏทณฺฑ           เวรมณํ  เว้นทางอันจะเป็นอาชญาให้ร้าย เช่น รับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นทางที่จะทำให้สัตว์ได้ทุกข์หรือตาย
          ๗.  ทิสิววยํ (ทิศพรต)  ไม่ออกไปให้พ้นเขตของตนทางทิศใดทิศหนึ่ง
          ๘.  อุวโภคบริโภคปริมาณํ  รู้จักประมาณในการอุปโภคบริโภค (การใช้จ่ายใช้สอนและการกิน)

หมวดที่ ๓  สิก (ขาว(ย(สิขาบท) มี ๔ ข้อ คือ
          ๙.  สมาอิยํ  ความมีตอเสมอ คือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย
          ๑๐.  เทสวยาสิยํ  ต้องบำเพ็ญพรตทุกเทศกาล
          ๑๑.  โปสโหว (วาโส)  การเข้าจำอุโบสถ
          ๑๒.  อติถิสํวิภาโคต้อนรับและเลี้ยงดูแขกที่มาหา
          ศาสดาจารย์ โฮฟราธ  บูร์เลอร์ ผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในปรัชญาเชนให้ทัศนะว่าการวางหลักปฏิบัติไว้เช่นนี้ก็เพื่อให้ผู้ครองเรือนมีความประพฤติดี มีเมตตากรุณา เต็มใจในการทรมานตนเพื่อเป็นมหาบูชาแด่ศาสนาและให้ประโยชน์แก่สัตว์ทั้งมวล
          การที่จะเข้าสู่โมกษะได้ บุคคลจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการ หรือเรียกว่า หลักแห่งมรรค ๓ ประการ คือ


          สัมมาทัสสนะ หรือ สัมมาสัทธา คือ ความเห็นชอบ มีศรัทธาหลักแน่นในศาสนา ความเห็นที่ถูกต้องก็คือเห็นว่า ศาสดาทั้งหมดของลัทธิปรัชญาเชนเป็นปุถุชนคนธรรมดา แต่เพราะศาสดาถูกพระองค์มีความเพียรอย่างแรงกล้า จึงสามารถหลุดพ้นและมาเทศนาสั่งสอนได้ และมีความเชื่อมั่นในคำสอนของศาสดาในลัทธิปรัชญาเชนอย่างแท้จริง
          สัมมาญาณะ คือ รู้ชอบ หมายถึง รู้ถึงหลักปรัชญาเชนที่สอน เช่น หลักอหิงสา (การไม่เบียดเบียนการไม่ทำลายสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวงด้วยกาย วาจา และใจ) มีความเชื่อว่า ชีวิตทั้งหลายเป็นทุกข์ จึงต้องหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ให้ได้ และรู้ชอบว่า โลกนี้เป็นอยู่ได้เอง ไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร ไม่มีใครสร้างรู้ชอบว่า โลกนี้เป็นอยู่ได้เอง ไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร ไม่มีใครสร้างรู้ชอบว่า โลกเที่ยงแท้มีอยู่ชั่วนิรันดร
          สัมมาจาริตตะ คือ ประพฤติชอบ ได้แก่ การประพฤติตามหลักปรัชญาเชน ซึ่งมีหลักแห่งการปฏิบัติ ๗ ประการ (หลักปฏิบัติ ๗ ขั้น)
          ปรัชญาเชนได้อรรถาธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักของมรรคทั้ง ๓ ว่า โดยทั่วไป หลักของมรรคทั้งสามนี้มีความสัมพันธ์กัน โดยเริ่มจากมรรคข้อที่ ๑ ก่อน ดังตัวอย่างดังต่อไปนี้
          คนที่กำลังป่วยคนหนึ่งกำลังทนต่อความทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ และคนป่วยคนนี้ก็ปรารถนาที่จะพ้นไปจากการเจ็บป่วย ดังนั้น อันดับแรกคนป่วยจะมีความมั่นใจในการรักษาของหมอที่จะทำการรักษาให้หายจากโลกได้ (เทียบได้กับมรรคข้อที่ ๑) อันดับต่อมา การที่คนป่วยจะหายจากโรคได้ก็จะต้องรู้ถึงธรรมชาติของยาที่หมอสั่ง คือ คุณภาพของยานั้น) เปรียบได้กับมรรคข้อที่ ๒ และอันดับสุดท้ายคนป่วยจะต้องรับประทานยาตามที่หมอสั่ง) เปรียบเทียบได้กับมรรค  ข้อที่ ๓)

๒.๕  ปรัชญาลัทธิร่วมสมัย
          ประมาณ ๖๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช อิทธิพลของโมกษะ หรือพรหมได้แพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของอารยเทศ (อินเดีย) แต่ปรากฏว่ามีมคธเจริญและแพร่หลายมากกว่าที่อื่น ๆ และเนื่องจากอิทธิพลโมกษะนี้เอง ทำให้เกิดแนวความคิดหรือทฤษฎีต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ทฤษฎีเหล่านี้มีผู้ตั้งขึ้นเราจึงเรียกว่า เจ้าลัทธิ เจ้าลัทธิที่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายเชน ว่ามีถึง ๓๖๓ ลัทธิ แต่ที่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายพุทธ ว่ามีอยู่ ๖๒ เท่านั้น (ดูละเอียดในพรหมชาลสูตร ที.มหา. ๑/๒๖/๑๒)
          ลัทธิเหล่านี้เมื่อสรุปเข้าแล้วก็จะได้สายใหญ่ ๆ เพียง ๒ สาย คือ
          อัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตนให้ลำบาก
          กามสุขัลลิกานุโยค คือ การปล่อยตนให้เป็นไปตามความต้องการด้านกามารมณ์จากลัทธิเหล่านี้ ได้มีนักบวชที่ปฏิบัติตนตามแนวต่าง ๆ หลายจำพวกเรียกชื่อกันต่าง ๆ เช่น

ปริพาชก        -         ผู้เร่ร่อน
          อาชีวก           -         ผู้เลี้ยงชีพ (จากคนอื่น)
          สมณะ           -         ผู้สำรวม ผู้สงบ
          อวิรุทธกะ       -         ผู้เป็นเพื่อน
          ดาบส            -         ผู้บำเพ็ญพรต
          ทิคัมพร                   -         ผู้เปลือย
          นิคันถะ                   -         (นิครนถ์) ผู้ไร้กิเลสเครื่องผูกรัด
          ภิกษุ             -         ผู้ขอทาน
          สันยาสี          -         ผู้เสียสละ
          มุณฑกะ                  -         ผู้ศีรษะโล้น
          ชฎิล              -         ผู้ไว้ผม
          เทวธัมมิกะ     -         ผู้ถือพระเจ้า
          เครยะ           -         ผู้ห่มผ้าสี
          เสตัมพร                  -         ผู้ห่อมผ้าขาว เป็นต้น

          นักบวชนักพรตเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากไหน ก็คงหนี้ไม่พ้นที่จะตอบว่า มาจากอิทธิพลของอาศรม ๔ เพราะภายหลังจากอุปนิษัทและอาศรม ๔ แล้ว นักบวช นักพรต ทั้งหลายก็เพิ่มมากขึ้น ในระยะนี้จึงมีผู้เปรียบเทียบว่า มีนักบวชออกแสวงบุญเร่ร่อนไปมากในชมพูทวีปเหมือน แมลงเม่าในต้นฤดูฝน ดูเหมือนจะเป็นยุคที่คนอินเดียเบื่อโลก เบื่อสังคมอันเลวร้ายในครั้งนั้น จึงหันไปหาความสุข ความเสรี ทางจิตด้วยการเป็นนักบวช นักจาริกซึ่งหางไกลออกจากกรอบและความยุ่งเหยิงของสังคมที่สุดก็เกิดมีศาสดาของโลกขึ้น

เจ้าลัทธิหรือ ครูทั้ง ๖
          บรรดาลัทธิเหล่านี้ ลัทธิที่สำคัญที่ควรจะกล่าวถึงมี ๖ ลัทธิ หรือที่เราเรียกว่าครูทั้งหกนั้นเอง แต่คนอินเดียนิยมเรียก คณาจารย์ คือเป็นหัวหน้าหมู่ เป็นเจ้าลัทธิที่มีลูกศิษย์คนละมาก ครูเหล่านี้ถือตนเป็นศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ มีคนนับถือ มีศิษย์ออกติดตามปฏิบัติตามมาก กล่าวกันว่า ดินแดนมคธในสมัยเริ่มยุคพุทธกาลนั้น มีนักบวชนักพรต ออกเร่ร่อนมากมายเหมือนแมลงเม่าในวันฝนตก นักพรตเหล่านี้ออกแสวงโมกษธรรมตามแนวความคิดของแต่ละครูที่พร่ำสอน เพราะครูแต่ละคนต่างก็อ้างว่าแนวของตนจักสามารถบรรลุโมกษะได้ จากเรื่องนี้ทำให้เรามองเห็นว่า อินเดียยุคนี้เป็นยุคแห่งการออกบวชหรือการสละบ้านเรือนและดินแดนอารยเทศก็กลายเป็นสนามทดสอบ ทดลองของนักพรตเหล่านี้ เพื่อจะพิสูจน์ว่าตนเองจะสามารถเข้าถึงโมกษาจริงหรือไม่ นักพรตเหล่านี้แม้บางครั้งจะเผชิญหน้ากัน หรือตอบโต้ทัศนะกันก็ตาม แต่ก็ไม่มีการเข่นฆ่าทำลายกันต่างคนต่างแข่งกันด้วยภูมิปัญญา และวาทะของตนเอง สงครามของเขาคือสงครามปาก ดังนั้นอินเดียจึงเป็นแหล่งกำเนิดของวิชาการต่าง ๆ หลายแขนง เช่น กฎหมายศาสนา ปรัชญา ตรรกศาสตร์ ภาษา และโหราศาสตร์ เป็นต้น
          ครูทั้ง ๖ นี้ เป็นคนยุคเดียวกับพระพุทธเจ้า จะก่อนก็ไม่นานนักจึงจำเป็นที่ควรจะรู้ประวัติย่อของคนเหล่านี้บ้าง
๑.  ปูรณกัสสปะ (อกิริยาวาทะ-อกิริยทิฏฐิ)
ท่านผู้นี้เป็นคณาจารย์ที่โด่งดังคนหนึ่ง เป็นเจ้าลัทธิเปลือย บาลีว่า อเจลกะ (ดูสุมังคลวิลาสินี) เมื่อยังเด็กได้เป็นลูกจ้างสกุลหนึ่งเป็นคนที่ ๑๐๐ คือ เต็มร้อยคน เขาจึงเรียกว่า ปูรณะ  (เต็ม, ครบ) แต่ลูกศิษย์ของท่านอธิบายในภายหลังว่า ท่านได้บรรลุสัมโพธิญาณ หรือ ปูรณญาณ (Perfect Wison) จึงได้ชื่อว่า ปูรณหะในเรื่องนี้ ดร.บี บารัว มีความเห็นว่า ปูรณกัสสปะเป็นบุตรของตระกูลที่มั่งคั่ง ไม่น่าจะเป็นคนใช้ใคร คำว่า ปูรณะ ก็เป็นคำที่ใช้เรียกกันเฉพาระในหมู่พราหมณ์เท่านั้น จึงน่าเชื่อว่า ปูรณกัสสปะ เป็นบุครพราหมณ์ที่มีฐานะดี และเนพวกกวรรณสูง อนึ่ง ชวินทร์  สรีรำ ก็สนับสนุนมติของ ดร.บี บารัว โดยให้เหตุผลว่า พวกพราหมณ์ถือว่าตนเป็นพวกวรรณสูง สนใจเล่าเรียนพระเวท ปูรณกัสสปะ ก็น่าจะเป็นเจ้าลัทธิขึ้นมาโดยการศึกษาและการปฏิบัติด้วยตนเอง จนบรรลุธรรมชื่อนี้
          คำสอนของปูรณากัสสปะ (ตำราตะวันตกใช้คำว่า Theory) สรุปได้ว่า วิญญาณเราอยู่นิ่งเฉย ร่างกายเท่านั้นเคลื่อนไหวทำงาน (ถือว่ามีกายกับจิต) ร่างกายทำบาป บุญ ทำดี ชั่ว ก็ตาม วิญญาณไม่ต้องรับผลของการกระทำนั้น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ยังถือว่าบาป บุญ คุณโทษ ก็ไม่มี เราจะทำเองหรือใช้ให้คนอื่นทำก็ตาม ก็ไม่มีผลอะไรตอบสนอง ทำแล้วก็แล้วไป ไม่ถือเป็นการทำ ซึ่งบาลีเรียกว่า อกิริยทิฏฐิ (Non-action) อกิริยทิฏฐิ ทางพุทธศาสนาถือเป็นทิฏฐิที่ชั่วช้า ใครตกอยู่ในทิฏฐินี้แล้ว เท่ากับตาบอด คือ ไม่เห็นทางแห่งความดี และความสำเร็จ อนาคตจึงสอนให้ทุกคนหลีกจากทิฏฐิชนิดนี้

๒.  มักขลิโกศาล (อเหตุกทิฏฐิ-อเหตุกวาท)
          มักขลิโคศาล เป็นบุตรพราหมณ์ชื่อ ภัททา หรือภัทรา แต่ไปเป็นเจ้าลัทธิอยู่มคธ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ว่า โคศาละ แปลว่า ผู้เกิดในดอกบัว สมัยยังเล็กอยู่เขาได้เป็นเด็กรับใช้ในตระกูลหนึ่ง วันหนึ่งเขาได้นำหม้อน้ำมันเดินไปด้วยความไม่ระวัง จึงลื่นล้ม นายได้ร้องเตือนว่า มา ขลิ (อย่าลื่นล้นนำ) ดังนั้นเขาจึงมีชื่อว่า มักขลิ
          มักขลิโคศาล เติบโตมาอย่างไรยังหาประวัติไม่ได้ ต่อมาได้สมัครเป็นศิษย์คนแรกของ ปารัสวนาถ ซึ่งเป็นศาสดาคนแรกของศาสนาเชนมักขลิโคศาลยังเคยเป็นครูของนิครนถ์นาฎบุตร ศาสดาของศาสนาเชนด้วยเขาได้ตั้งตนเป็นอาจารย์ของลัทธิ อาชีวกะ พวกอาชีวกเป็นพวกเร่รอน (ดูอาศรมข้อ ๔) ไม่อยู่ประจำที่ มีความเห็นขัดกับลัทธิหรือทฤษฎีของคนอื่นหมด ชอบยกตนข่มพรหมจรรย์ หรือพวกไม่เรียบร้อย แต่ก็น่าอัศจรรย์ว่าพวกนี้เขาปฏิบัติเคร่งมาก เช่นว่า
          ไม่รับประทานอาหารที่เขานำมาให้โดยเฉพาะเจาะจง
          ไม่รับบิณฑบาตในขณะที่ผู้ให้กำลังรับประทานอาหารอยู่
          ไม่รับประทานอาหารในขณะที่มีสุนัขยืนอยู่ข้าง ๆ หรือมีแมลงวันตอน เพราะถือว่าสัตว์อื่นก็หิว ต้องการอาหารเช่นกัน
          ไม่รับประทานปลา เนื้อทุกชนิด
          ไม่ดื่มสุรา ของมึนเมาทุกชนิด
          ไม่สมสมอาหารเครื่องบริโภคในเวลาข้าวยากหมากแพง เป็นต้น ข้อปฏิบัติเหล่านี้คล้ายกับศีลของพวกนิครนถ์นาฎบุตรหรือศาสนา เช่น พิจารณาตามเหตุผลก็จะเห็นว่า พวกอาชีวกนี้มีเมตตาจิต มีความเสียสละ มีความเพียรมาก แต่กลับเป็นพวกอัตตกิลมถานุโยค คือ ทรมานตน มิใช่ทางสายกลางตามแนวพุทธพจน์

แนวคำสอน
          แนวคำสอนของมักขลิโคศาล เกิดจากเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง คือ เขาเห็นหน่อไม้ที่เหี่ยวแห้งแล้วอกมาใหม่และเจริญขึ้น เติบโตขึ้นกว่าเดิม จึงเกิดทัศนะขึ้นมาว่า สัตว์ทั้งหลายจะต้องฟื้นคืนชีพอีก (Reincarnation) ไม่สูญหายไปจากโลกนี้ มีชาติภพที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง เป็นนิจจะ แม้จะเป็นภพที่ต่ำหรือสูงก็นิจจะทั้งนั้น เขาสอนว่าสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย (เป็นไปเอง) ดี-ชั่ว บริสุทธิ์ เศร้าหมอง ก็เป็นไปเอง ปฏิเสธการกระทำและผลของการกระทำ (No action no                re-action) คนเราจะทำให้ตนดีเด่นหรือทำให้คนอื่นดีเด่นก็ไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความบังเอิญหรือโชคชะตาหรืออำนาจดวงดาว ซึ่งเราจะควบคุมไม่ได้ สรุปว่า ชีวิตเราไม่อาศัยการกระทำ แต่มันจะเป็นไปตามโชคชะตาหรืออำนาจที่นอกเหนือจากตัวเราเองแม้แต่พระเจ้าก็ยังตกอยู่ในอำนาจโชควาสนาด้วย
          อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางตอนที่มักขลิโคศาลเห็นไปเฉียด ๆ เรื่องสังสารวัฏ คือเห็นว่า เมื่อสัตว์โลกได้เวียนว่ายตายเกิดไปจนภพสุดท้าย เขาก็จะเป็นผู้บริสุทธิ์ไปเอง คล้าย ๆ กับว่าใช้กรรมเก่าจนหมดสิ้น แต่ก็ผิดกับหลักพุทธพจน์ที่ว่า สัตว์ทั้งหลายจะบริสุทธิ์ หรือเศร้าหมองเองไม่ได้เราเท่านั้นทำให้เราเองบริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง
          มักขลิโคศาล จัดเข้าอยู่ในพวกลัทธิอเหตุกทิฎฐิ คือ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครปรุงแต่ง เป็นไปของมันเองโดยตัวของมันเอง (Without Cause และ Without Result)
          พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ลัทธิของมักขลิโคศาลเป็นลัทธิที่ไร้สาระที่สุดดังความในพระสูตรว่า ภิกษุทั้งหลาย วาทะของเจ้าลัทธิชื่อว่า มักขลิ นั้น บัณฑิตกล่าวว่าเลวกว่าวาทะของสมณะที่เลวทุกจำพวก เจ้าลัทธิชื่อว่ามักขลิ เป็นดมฆบุรุษคนไร้ค่า มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มีความเพียรไม่มี
          ลัทธินี้เกิดก่อนพระพุทธเจ้า และสืบต่อมาหลังพระพุทธเจ้า เพราะมีปรากฏในศิลาจารึกเมื่อประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ ว่า พระเจ้าพินทุสาร พระชนกของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงปรึกษากับท่าน ชนาสนะ ซึ่งเป็นนักบวชในลัทธินี้ว่า สมควรจะให้พระเจ้าอโศก หรือวีตโศกเป็นกษัติรย์แทนพระองค์ อชิตเกสกัมพล ผอุจเฉททิฏฐิ นัตถิกวาท)
          อชิตเกสกัมพล แปลว่า ผู้นุ่งห่มผ้าที่ทำด้วยผม อินเดียโบราณเกล้าผมไว้ยาวจนนำมาทอเป็นผ้าได้เหมือนผ้าขนสัตว์สมัยนี้ แต่ผ้าทำด้วยผมนี้เป็นผ้าเนื้อหยาบและน่าเกลียด ดังนั้นผู้ที่ใช้         ผ้าชนิดนี้จึงมีวาทะที่รุนแรงน่าเกลียดด้วย อชิตเกสกัมพลคัดค้านทุกลัทธิรวมทั้งพุทธวจนะด้วยอย่างรุนแรง กล่าวกันว่า ไม่มีเจ้าลัทธิใดจะรุนแรงเท่า ส่วนประวัติความเป็นมาของเจ้าลัทธินี้ไม่ปรากฏชัด

คำสอน
          อชิตเกสกัมพล เป็นพวกนัตถิกวาทะ คือ บอกว่าทุกสิ่งไม่มี หรืออุจเฉททิฏฐิ คือ มีความเห็นว่าทุกสิ่งสูญ ความเห็นเช่นนี้มีอันตรายร้ายแรงที่สุดในความเห็นทั้งหลาย เจ้าลัทธินี้ปฏิเสธพ่อ แม่ สัตว์ เทวดา นรก สวรรค์ บุญ บาป ทำอะไรก็ไร้ผล การบูชายัญเพื่อเทพเจ้าหรือการทำชั่วก็เปล่าทั้งนั้น ไม่มีผลตอบแทนใด ๆ พ่อแม่เลี้ยงมา ญาติเพื่อนฝูงช่วยเหลือมา สมณะชีพราหมณ์ ครูอาจารย์เคยสอนมา ไม่มีบุญทั้งนั้น ทำแล้วแล้วไป ไม่ต้องสนใจอีก
          อย่างไรก็ตาม ฟังวาทะเท่านี้ก็อาจจะเข้าใจว่า อชิตเกสกัมพลบ้าปฏิเสธว่าตนมีอยู่ด้วย ดังนั้น เขาจึงมีคำอธิบายต่ออีกว่า ส่งที่อุบัติขึ้นโดยไม่มีพ่อแม่ เช่น เทวดา สัตว์นรก ผี เป็นต้น ที่เรียกว่า โอปปาติกะ นั้นไม่มีสรรพสัตว์เกิดมาเพราะธาตุ ๕ ประสมกัน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศเมื่อถึงคราวสลายธาตุดินในร่างกายก็กลับไปเป็นดิน ธาตุน้ำก็กลายเป็นน้ำและอากาศก็ไปเป็นอากาศ มันเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของมัน สรรพสัตว์จึงสิ้นสุดแค่ตายเท่านั้น ไม่มีอะไรอีก ดังนั้น ชั่วชีวิตนี้จงเร่งรีบหาความสุขจะเป็นการปล้น จี้ ลักขโมย หรือแม้แต่จะฆ่าคนอื่นเพื่อให้ตนเองมีสุขก็รีบทำ นี้คือแนวคำสอนของเจ้าลัทธินี้ แต่ก็ไม่ทราบว่า ถ้าหากเจ้าลัทธิอื่นจะตามฆ่าเจ้าลัทธินี้เสีย เจ้าลัทธินี้จะยอมให้ฆ่าหรือไม่
          อชิตเกสกัมพล มุ่งสอนทางวัตถุนิยม (Materialism) คือ ถือวัตถุเป็นสำคัญ วัตถุเป็นใหญ่ในโลกสิ่งใดเห็นได้ สัมผัสได้ ดื่มกินได้ สิ่งนั้นก็มีประโยชน์และรีบฉวยเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้นๆ มาไว้ สิ่งใดไม่เห็นสัมผัสไม่ได้ ก็ไม่ต้องพูดถึงสิ่งนั้น คือ ปฏิเสธคุณธรรมทางจิตด้วย
          ลัทธินี้มีมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้า และก็มีสืบทอดกันมาตลอดกาลอันยาวนาน ในรูปแบบของความเชื่อถือต่าง ๆ ลัทธิปรัชญาจารวาก ที่สนับสนุนด้านวัตถุ ก็คือลัทธินี้นั่นเอง อนึ่ง ในโลกปัจจุบันนี้ ก็ยังมีพวกวัตถุนิยมอยู่ จึงเห็นได้ว่า ลัทธิที่ปฏิเสธความเจริญของโลกเช่นนี้ยังมีอยู่เหมือนลิเก ละคร จะต้องมีตัวโกงหรือผู้ร้ายอยู่ด้วยทุกเรื่อง

ปกุธกัจจายนะ (สัสสตทิกฐิ)
          ปกุธกัจจายนะ เป็นลูกของพราหมณ์ ปรากฎว่าเริ่มสนใจทางศาสนามาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ อยู่ เมื่อโตขึ้นก็คิดอยากจะไปนิพพานหรือเข้าสู่โมกษะจึงรู้สึกเบื่อหน่ายโลกหันเข้าสู่การบำเพ็ญธรรมตามความเชื่อถือต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเวลานั้น ต่อมามีความรู้จนสามารถตั้งตนเป็นอาจารย์เจ้าลัทธิขึ้นมาอีกคน

คำสอน
          ท่านผู้นี้มีความเห็นตรงข้ามกับ อชิตเกสกัมพล คือเห็นว่า สังขารทั้งปวงคงอยู่ มีอยู่แน่นอน เริ่มต้นก็สอนว่า สภาวะที่จะแยกออกหรือแปรเปลี่ยนไม่ได้อีก มีอยู่ ๗ อย่าง เรียกว่า            สัตตกายา (Seven Elements) คือ
          ๑.  ปฐวีธาตุ     (Earth)         ได้แก่  สภาวะที่แข็ง
๒.  อาโปธาตุ  (Water)         ได้แก่  สภาวะของเหลว
๓.  เตโชธาตุ   (Fire)   ได้แก่  สภาวะที่ร้อน
๔.  วาโยธาตุ   (Wind) ได้แก่  สภาวะเคลื่อนไหวไปมา
๕.  สุขธาตุ    (Pleasure)       ได้แก่  สภาวะที่ให้เกิดความสุข
๖.  ทุกขธาตุ   (Pain)  ได้แก่  สภาวะแห่งความทุกข์ความลำบาก
๗.  ชีวธาตุ     (Soul)  ได้แก่  ชีวะหรือวิญญาณ
          สัตตกายาในที่นี้ หมายถึง กองธาตุ หรือสภาวะ หรือหมวดหมู่ของสังขาร มิใช่ร่างกายธรรมดา (Body) เจ้าลัทธินี้อธิบายว่า ธาตุแต่ละอย่างจะมีความมั่นคงในตัวเอง เป็นอิสระในตัวเอง ทำหน้าที่ของตัวเองตามสภาวะ และธาตุเหล่านี้ก็ไม่ขึ้นต่อกัน ต่างคนต่างอยู่ เป็นใหญ่ในตัวเอง
          ปกุธกัจจายนะ อธิบายต่อไปว่า ธาตุทั้งหมดเป็นของเที่ยงแท้ ไม่แปรเปลี่ยน รักษาสภาวะเดิม เช่น น้ำ จะรักษาความเป็นน้ำ ถึงจะถูกต้มเป็นไอ ก็จะกลับเป็นน้ำเย็นตามเดิม ถึงจะเป็นน้ำแข็ง หิมะ น้ำค้าง เมฆ หรือน้ำในสระ มันก็คงคุณลักษณะของน้ำไว้ได้ เช่นเดียวกัน ธาตุชนิดอื่น ๆ            ก็สามารถรักษาสภาวะที่แท้จริงของมันไว้ได้ จึงเห็นว่า โลกและสิ่งทั้งปวงในโลกนี้เที่ยง บาลีว่า สสฺสโต โลโก ค่อโลกเที่ยง (The World is eternal) แต่ความหมายของคำว่าโลกนี้กว้างมาก คือหมายเอาสภาวะที่เป็นอยู่โดยปกติธรรมชาติ เช่น ธาตุทั้ง ๗ และดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ด้วยเพราะ ทุกอย่างมันคงสภาพมันอยู่โดยปกติ
          อย่างไรก็ตาม แนวคำสอนบางตอนของลัทธินี้ก็ส่อไปในทางนัตถิกทิฏฐิด้วย เช่น สอนว่า ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครบันดาล ไม่มีใครทำ ไม่มีใครรับสั่งให้ทำ ไม่มีผู้ถูกฆ่า ใครทำอะไรให้ใคร ก็ไม่ถือว่าเป็นอันทำนาย ก. เอามีดฟัน  นาย ข. ไม่ถือว่า นาย ก. เป็นผู้ฆ่า และไม่ถือว่า นาย ข. ถูกฆ่า ถือเพียงว่ามีดซึ่งเป็นธาตุดินวิ่งผ่านร่างกายของ นาย ข. ซึ่งเป็นธาตุ ดิน ธาตุน้ำ เท่านั้น เช่นเดียวกับเอตะปูตอกลไปในไม้ ตะปูและไม้ก็ไม่มีใครผิด แนวสอนนี้เห็นชัดว่า ปฏิเสธการกระทำและผลของการกระทำ จึงอยู่ในพวก นัตถิกทิฏฐิ

๕.  สญชัยเวลัฏฐบุตร (อมราวิกเขปิกา)
          สญชัย เป็นคณาจารย์ที่โด่งดังในถิ่นมคธ เป็นนักบวชพวกปริกาชกเหมือนกัน ตั้งสำนักอยู่ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของมคธ นับระยะที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศสัจธรรมนั้น สญชัยก็มีลูกศิษย์อยู่มาก ในจำนวนลูกศิษย์เหล่านั้น ก็มี อุปติสสะ (สารบุตร) และโกลิตะ (โมคคัลานะ) รวมอยู่ด้วย ตามประวัติพระสาวกเล่าว่า ครั้งหนึ่งอุปติสสะ และโกลิตะเป็นเพื่อนกัน ชวนกันไปดูมหรสพที่เชิงเขา เขตเมืองราชคฤห์ แล้วเกิดเบื่อหน่าย ดูไม่สนุก เกิดปรัชญาชีวิตขึ้นว่า หนังละครก็แค่นั้น ล้วนเป็นเรื่องหลอก เรื่องตลก ที่จริงก็คนเราแสดงแกล้งทำ มิใช่สัจจะในชีวิต ควรแสวงหาของจริงในชีวิต ทั้งคู่จึงออกแสวงหาวิชาความรู้ค้นหาสัจธรรม จึงไปพบอาจารย์สญชัย  ทั้งสองได้ยอมมอบตนเป็นศิษย์เรียนวิชาอยู่กับอาจารย์จนจบความรู้แล้วจึงลาจากสำนักอาจารย์ไป ภายหลังได้เป็นศิษย์พระตถาคต หวลระลึกถึงอาจารย์สญชัย จึงกลับมาเชิญอาจารย์ให้ไปเป็นศิษย์พระตถาคตด้วย เพราะพระองค์เป็นยอดนักปราชญ์จริงสญชัยถามว่า ในโลกนี้ คนโง่หรือคนฉลาดมีมากกว่า อุปติสสะบอกว่าคนโง่มากกว่าคนฉลาด สญชัยจึงตอบว่า ช่างเถอะ คนฉลาดจะไปหาพระสมณโคดม คนโง่ก็จะมาหาฉันเอง ฉันจะไม่ไปหาพระสมณโคดม

คำสอน
          สัญชัยเวลัฏฐบุตร เป็นเจ้าลัทธิที่มีความเห็นไม่คงที่ กลับกลอก ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้ารับรองอะไรอย่างเด็ดขาด ไม่กล้าจะบัญญัติอะไรตายตัวลงไป อาจจะเป็นเพราะ รู้ไม่จริง หรือกลัวผิด หรือเล่นสำนวน จึงตั้งเกณฑ์ที่แน่นอนไม่ได้ เช่น
          ๑.  ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีรึก็ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง
          ๒.  โลกนี้และโลกหน้าไม่มี จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง
          ๓.  วิญญาณไม่มี จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่ใช่ และก็/ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง

          ครั้งหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรู เสด็จไปถามปัญหาด้านศิลปะของปุถุชน และสามัญผลในปัจจุบันว่าจะให้ผลได้ในปัจจุบันหรือไม่ ท่านสญชัยไม่ตอบตรง ๆ กลับตอบเลี่ยง แบ่งรับแบ่งสู้ว่า มหาบพิตร ถ้าพระองค์ตรัสถามว่า ปรโลกมีหรือไม่ หากอาตมาตอบว่ามี พระองค์ก็ทรงรับว่ามีแต่ที่จริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ จะว่าปรโลกก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่ จะว่ามีหรือไม่มีก็มิใช่ คือมิใช่ทั้งสองอย่าง
          จึงเห็นได้ว่า ความเห็นของท่านผู้นี้ฟังยาก พูดชัดส่ายไปมา เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ จับยากเหมือนปลาไหล จึงเรียกชื่อเป็นบาลีว่า อมราวิกเขปิกา ผู้พูดซัดส่ายเหมือนปลาไหล แต่ทฤษฎีของท่านผู้นี้ก็ไม่ถือเป็นอกิริยาวาท เพราะไม่ปฏิเสธบุญการกระทั้งปวง เพียงแต่เป็นคนไม่มีความเห็นคงตัวเท่านั้น
          พระพุทธเจ้าตรัสตำหนิว่า ลัทธินี้เป็นลัทธิของคนตาบอด ไม่สามารถจะนำตนและผู้อื่นเข้าถึงความจริงได้ เป็นบุคคลประเภทโง่เขลาไม่กล้าตัดสินสิ่งใด ๆ ลงไปอย่างเด็ดขาด เพราะความไม่รู้จริงนั่นเอง

นิครนถ์นาฎบุตร
          นิครนถ์นาฏบุตร หรือ มหาวีระ เป็นคณาจารย์ที่สำคัญและโด่งดังที่สุดในจำนวนครูทั้งหก เป็นศาสดาที่มีศิษย์มาก มีหลักคำสอนมั่นคงทัดเทียมกับพระพุทธเจ้าที่เดียว แต่ทางพระพุทธศาสนาเห็นว่า คำสอนนั้นนอกพุทธพจน์ จึงถือเป็นเดียรถีย์ไปเลย ในที่นี้ขอเรียกชื่อเจ้าลัทธินี้ว่า มหาวีระ เสียเลยจะได้คล่องในการเขียนและอ่าน มหาวีระเกิดและออกบวชก่อนพระพุทธองค์เล็กน้อย เขาเกิดที่เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ทางด้านเหมือนมคธ พระบิดาเป็นราชองค์หนึ่งในจำนวนคณะราชาผู้ปกครองเมืองเวสลี คือ กษัตริย์ลิจฉวี นั่นเอง ตระกูลของท่านชื่อนายะ บาลีเรียก "นาฎ บ้าง สันสกฤตเรียก ญาตะ บ้าง สันสกฤตเรียก ญาตฤ พระบิดาพระนามว่า สิทธารถ พระมารดาพระนามว่า ตฤศลา เป็นพี่สาวของ เจ้าชายเชฎกะ ผู้เป็นประธานคณะราชแห่งเวสาลี
          มหาวีระ มีอายุได้ ๓๐ ปี พระบิดา สิ้นพระชนม์ เกิดความเสียใจจึงออกบวช เวลานั้นกำลังเป็นฤดูหนาว มหาวีระถอนผมตัวเอง ห่มผ้าเก่า ๆ ผืนเดียวเร่ร่อนไป บำเพ็ญตบะทรมานตนได้ ๑๓ เดือน เข้าฤดูหนาวอีกมหาวีระเปลื้องผ้าท้าทายความหนาวต่อไป ทรมานตนต่อมาได้ ๑๒ ปี จึงได้บรรลุโมกษะ จึงเรียกตนเองว่า ชิน หรือ เชน (ผู้ชนะ) บ้าง เกวละ (ผู้รู้สิ้น) บ้าง อรหันต์ (ผู้ตัดกิเลสแล้ว) บ้าง มหาวีระประกาศคำสอนอยู่ ๔๒ ปี จึงนิพพาน เบื้องหลังบางแห่งกล่าวว่าเป็นอาจารย์ของมักขลิโกศาลอยู่ตั้ง ๖ ปี แต่บางแห่งว่า มักขลิโคศาลเป็นศิษย์ของปารัศวะ (ปารัศวะเป็นศาสดาองค์ที่ ๒๓ มหาวีระเป็นศาสดาองค์ที่ ๒๔ ของศาสนาเชน)
          มหาวีระ เป็นพวกเร่ร่อนเช่นเดียวกับ มักขลิโคศาล การปฏิบัติจึงใกล้เคียงกัน
คำสอน
          มหาวีระ ได้เอาคำสอนเดิมของปารัศวะมาใช้ คือ มีหลักศีลธรรมอยู่ ๔ ข้อ คือ
          ๑.  ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์
          ๒.  ไม่พูดปดไม่พูดเหลวไหล
          ๓.  ไม่ขโมยหรือฉ้อโกง
          ๔.  ไม่ครอบครองทรัพย์สมบัติใด ๆ
และเขาเพิ่มเข้าอีก ๑ ข้อ คือ
          ๕.  จงประพฤติพรหมจรรย์ (คือ ไม่มีคู่ครอง)
ทั้ง ๕ นี้ เป็นหลักศีลธรรมขั้นต้นเท่านั้น ส่วนธรรมวินัยและปรัชญาของเขายังมีอีกมากมาย จนเขาถือเป็นศาสผู้ยิ่งใหญ่ทัดเทียมพระตถาคตทีเดียว
          มหาวีระ มีรัตน ๓ เหมือนกัน แต่เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่บุคคลคือ
          ๑.  ความรู้ชอบ หรือ ฌานะ (Right Knowledge) คือ รู้ตามคำสอนของมหาวีระ รู้ที่จะบรรลุโมกษะ
          ๒.  ความเห็นชอบ หรือ ทรรศนะ (Right Faith) เช่น เชื่อว่ามหาวีระเป็นคนธรรมดา อาศัยความเพียรจนละกิเลสได้ จึงกลายเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นศาสดาของศาสนาเชน
          ๓.  ความประพฤติชอบ หรือ จาริตระ (Right Conduct) คือ ประพฤติตามหลักศีลธรรม ที่มหาวีระพร่ำสอน (อัตตกิลมถานุโยค)
          มหาวีระ มีทัศนะเหมือนกับพระพุทธเจ้าบางประการ คือ ปฏิเสธเรื่องพระเจ้า ตำหนิเรื่องวรรณะและสนับสนุนการกระทำว่าเป็นทางสิ้นกิเลส (เนื่องจากเชนเป็นศาสนาสำคัญ ท่านที่ประสงค์ความพิสดารโปรดอ่านจากประวัติวัฒนธรรมอินเดีย ของพระมหาสีลา  วีรเสฏฺโฐ และศาสนาเปรียบเทียบของเสถียร พันธรังสี เป็นต้น)
          เจ้าลัทธิต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ต่างมีลูกศิษย์ มีบริวารที่ให้การสนับสนุน เพราะเขาเชื่อว่าลัทธินั้น ๆ จะสามารถบรรลุความสุขอันสูงสุดคือ โมกษะ และก็เป็นที่น่าชมเชยน้ำใจของเจ้าลัทธิเหล่านั้นด้วยว่า แม้คำสอนจะต่างกัน วิธีปฏิบัติต่างกัน บางครั้งก็ส่งลูกน้องไปลองฝีปากกับเจ้าลัทธิอื่นด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่เคยมีเจ้าลัทธิคนใด ได้ใช้กำลังเข้าปะทะ ต่อสู้ เข่นฆ่าฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่ลูกศิษย์ก็ไม่เคยถึงขั้นชกต่อยตบตีกัน เข้าสู้กันด้วยเหตุผล โต้กันด้วยวาทะและมีความเป็นนักกีฬาอยู่ด้วย รู้แพ้ รู้ชนะ ชฏิล ๓ พี่น้องก็เป็นเจ้าลัทธิบูชาไฟอีกลัทธิหนึ่ง ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้         ใหม่ ๆ ก็ได้ต่อสู้ด้วยฤทธิ์ เมื่อเขาแพ้ เขาก็ยอมด้วยน้ำใจ ดังนี้เป็นต้น จึงเห็นน้ำใจและความเป็นนักกีฬาของเขาได้อย่างชัดเจน แม้ฝ่ายพราหมณ์จะมีระบบวรรณอยู่ แต่ฝ่ายศาสนาอื่น ๆ นั้น ถือเสมือนเขตปลดปล่อย ไม่พูดถึงวรรณะ ใครใคร่โต้ก็โต้ ใครใคร่เถียงก็เถียง ดูเหมือนจะเป็นแดนเสรีภาพด้านการพูด การแสดงความคิดแห่งแรกของโลกด้วย
          อนึ่งเจ้าลัทธิเหล่านี้ทั้งหมด ดร.บาซัม (A.L.Basham) อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์อินเดีย ในมหาวิทยาลัยลอนดอนเรียกว่า พวกอาชีวก (Ajivakas) ทั้งหก ไม่เรียกว่าครูทั้งหก
          อย่างไรก็ตาม ตำราของท่านผู้นี้ส่วนมากก็ได้อ้างถึงคัมภีร์ฝ่ายพุทธศาสนาและศาสนาเชน ดังนั้น จึงอาจจะทำให้ผู้อ่านที่อ่านหนังสือน้อยเล่มหรือติดในชื่อหนึ่งชื่อใดอยู่แล้ว เกิดความสับสนว่า ชื่อของนักพรตเหล่านี้จะเรียกอย่างไรแน่ ก็ขอทำความเข้าใจว่า มีชื่อเรียกหลายอย่าง ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแล้ว โดยเฉพาะมหาวีระ มีชื่อเรียกมากว่าเพื่อนว่า เกวลิน (ผู้รู้จบ) อรหันต์ (ผู้ละกิเลส) ชนะ (ผู้ชนะ) เป็นต้น








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น