หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

จิตวิทยาสร้างสรรค์การเรียนการสอน



จิตวิทยาสร้างสรรค์การเรียนการสอน


การจัดการเรียนการสอนในยุคปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำ  มีส่วนร่วมอย่างจริงจังทั้งคิด จิตใจ สมอง จะทำให้เกิดความประทับใจ เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ ซาบซึ้งจดจำได้ดี สามารถคิดได้กว้างไกล นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน นำไปสู่การคิดค้น พบการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์งานใหม่ได้

ความหมายและความเป็นมาของจิตวิทยา
          จิตวิทยา(Psychology) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Psyche แปลว่า วิญญาณ (Soul) และ Logos แปลว่า การศึกษาหรือความรู้ ดังนั้นเมื่อรวมกันเข้าเป็น Psyche + Logos จึงหมายถึง  การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณและพยายามเข้าในเรื่องวิญญาณซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจลึกลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า โดยเชื่อว่าวิญญาณนี้เป็นอิสระ สามารถบันดาลให้มนุษย์มีอันเป็นไปต่างๆได้ แต่ต่อมาความเจ้าใจในเรื่องจิตวิทยาที่ว่า เป็นการศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณก็เปลี่ยนไปเป็นการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ ดังนั้นจิตวิทยาจึงหมายถึง  การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ
          จิตวิทยาจัดเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะใช้วิธีการศึกษาค้นคว้าหรือการรวบรวมความรู้ทางจิตวิทยาอย่างเป็นระบบ แบบแผน เป็นปรนัย ทดสอบ ทบทวนอย่างละเอียดถี่ถ้วน สรุปเป็นกฎเกณฑ์ด้วยความรอบคอบและสามารถพิสูจน์ตรวจสอบข้อมูลและกฎเกณฑ์ได้เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา เป็นต้น

ความหมายของจิตวิทยาการศึกษา
          จิตวิทยา เป็นศาสตร์ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต
          การศึกษา  เป็นศาสตร์ที่ช่วยคนในการปรับตัวให้ได้ดีที่สุด
          จิตวิทยาการศึกษา จึงเป็นศาสตร์หรือความรู้ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อช่วยให้มนุษย์ปรับตัวได้ดี

ขอบข่ายของจิตวิทยาการศึกษา
          จากลักษณะวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเรียนรู้ การเรียนการสอน  องค์ประกอบที่สำคัญของการจัดการศึกษาในโรงเรียน ครอบคลุมถึงนักเรียน ครู สิ่งแวดล้อมขอข่ายของจิตวิทยาการศึกษาจึงมีดังนี้
1.      ศึกษาเรื่องประวัติความเป็นมาของจิตวิทยา
2.      ศึกษาองค์ประกอบต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
3.      การเรียนรู้ โดยเน้นศึกษาธรรมชาจิของการเรียนรู้ องค์ประกอบของการเรียนรู้
4.      การประยุกต์เทคนิคและวิธีการเรียนรู้ โดยครูหรือผู้สอน
5.      การปรับพฤติกรรม โดยเน้นการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาไปสู่พฤติกรรมที่พึงปรารถนา
6.      เทคนิคและวิธีการต่างๆ ที่ใช้ในการศึกษาจิตวิทยา เช่น การสังเกต การสำรวจ

ประโยชน์ของจิตวิทยาการศึกษา
          จิตวิทยาการศึกษามีประโยชน์แก่บุคคลทุกประเภทโดยเฉพาะครูผู้สอน ผู้บริหารการศึกษา นักสังคมสงเคราะห์ บิดามารดา ผู้ปกครอง ซึ่งจะช่วยให้สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กได้อย่างราบรื่นและเป็นสุข

แนวความคิดของนักจิตวิทยากลุ่มต่างๆ
          1.กลุ่มโครงสร้างทางจิต (Structuralism) ริเริ่มโดย  วิลเฮล์ม วุ้นด์ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้สร้างห้องทดลองทางจิตวิทยาขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1879 ที่เมืองไลท์ซิก ประเทศเยอรมันนี และจิตวิทยาก็เริ่มเป็นศาสตร์ที่ศึกษาตามวิธีทางวิทยาศาสตร์ นับตั้งแต่นั้นมา และวุ้นด์ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาการทดลอง
          2. กลุ่มหน้าที่ทางจิต (Functionalism) ผู้ริเริ่มแนวคิดคือ วิลเลี่ยม เจมส์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาด  และจอห์นดิวอี้ แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา แนวคิดนี้ให้ความสนใจอย่างมากในเรื่องพฤติกรรม โดยเฉพาะการเรียนรู้และเน้นศึกษาการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ขณะที่บุคคลทำกิจกรรม
          3.  กลุ่มพฤติกรรมนิยม ผู้นำของกลุ่มคือ จอห์น บี วัตสัน ซึ่งมีความคิดคัดค้านกับแนวคิดของกลุ่มที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ด้วยวิธีการตรวจสอบตนเองเพราะเห็นว่ายังไม่เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์
          4. กลุ่มจิตวิเคราะห์ ผู้นำคนสำคัญ คือ ซิกมันต์ ฟรอยด์ จิตแพทย์ชาวเวียนนาได้ศึกษาวิเคราะห์จิตของมนุษย์และอธิบายว่าพลังงานจิตทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ 3 ลักษณะ คือ จิตสำนัก จิตกึ่งสำนัก จิตไร้สำนึก
          5. กลุ่มเกสตัลท์ แนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์เกิดขึ้นใกล้เคียงกับกลุ่มพฤติกรรมนิยม ผู้นำกลุ่มได้แก่ แมกซ์ เวอร์ ไทเมอร์ ร่วมกับ เคอร์ท เลอวิน เคอร์ด คอฟกา และวูฟกัง โคเลอร์ กลุ่มนี้มีแนวคิดว่า การเรียนรู้เกิดจากการจัดสิ่งเร้าต่างๆ มารวมกันเริ่มต้นด้วยการรับรู้โดยส่วนรวมก่อน  แล้วจึงจะสามารถแยกวิเคราะห์เรื่องการเรียนรู้ส่วยย่อยทีละส่วนต่อไป

ความแตกต่างระหว่างบุคคล
ความแตกต่างระหว่างบุคคล  หมายถึง ลักษณะของบุคคลแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน  แตกต่างกัน  มีลักษณะหรือแบบไม่ซ้ำใครและไม่เหมือนใคร ความแตกต่างระหว่างบุคคลทางกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ซึ่งความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้บุคคลมีเอกลักษณ์ของตน ดังคำกล่าวที่ว่าไม่มี บุคคล 2 คนใดที่จะเหมือนกันไปทุกอย่าง  หรือไม่มีใครเลยที่จะเหมือนกันไปทุกอย่าง หรือดังที่ พลาโต กล่าวว่า ไม่มีใครสองคนที่เกิดมาเหมือนกันทุกๆ อย่าง
พัฒนาการของมนุษย์
          พัฒนาการ  คือกระบวนการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆของบุคคล ซึ่งมีองค์ประกอบ 2 องค์ประกอบ คือ วุฒิภาวะและการเรียนรู้ พัฒนาการของมนุษย์มีทั้งด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว พัฒนาการทางอารมณ์ พัฒนาการทางบุคลิกภาพ  พัฒนาการทางสติปัญญา พัฒนาทางจริยธรรม
          บุคลิกภาพ  มีความสำคัญมาก จากการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ หรือศึกษาต่อ มักกำหนดคุณสมบัติของบุคลิกภาพที่ดีไว้เป็นประการสำคัญ จากการวิจัย วิศวกรกลุ่มหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พบว่า วิศวกรสมองดี ความรู้ดี และบุคลิกภาพดี สามารถหาเงินและปฏิบัติหน้าทีได้กว่า 6 เท่าของวิศวกรที่สมองดี ความรู้ดี แต่หย่อนบุคลิกภาพ บุคลิกภาพจึงส่งผลต่อ ความสำเร็จ และ ความล้มเหลว
          สติปัญญา ความสามารถของบุคคลในการเรียนรู้ การคิดหาเหตุผล การตัดสินใจ การแก้ปัญหา ตลอดจนการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ การปรับปรุงตัวเองต่อสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และสามารถดำรงตนในสังคมอย่างมีความสุข
          ความถนัด คือ ความสามารถที่บุคคลได้รับจากประสบการณ์ การฝึกฝน  และมีการสะสมไว้มากจนเกิดเป็นทักษะพิเศษ ซึ่งทำให้บุคคลนั้นพร้อมที่จะกระทำกิจกรรมนั้นๆ ให้สำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          ความฉลาดทางอารมณ์ ทางอารมณ์ คือความสามารถศักยภาพของบุคคลในการรับรู้อารมณ์ของตนเอง ลักษณะของบุคคลที่มีความฉลาดทางอารมณ์ได้แก่สร้างสมดุลให้กับชีวิตได้ ภาคภูมิใจในตนเอง จัดการกับตนเองได้ คิดเชิงบวก
เอาชนะความกลัว  ไม่เก็บกด พอใจในตนเอง  เป็นที่ยอมรับ และอดทน
          ความคิดสร้างสรรค์ คือความสามารถของบุคคลในกระบวนการคิดสร้างสรรค์ ผลิตผลหรือสิ่งแปลกๆใหม่ ที่ไม่รู้จัดมาก่อน มีองค์ประกอบ 4 ประการคือ คล่องแคล่ว ยืดหยุ่น ริเริ่ม และละเอียดลออ
          การเรียนเรียนรู้  คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเติมสู่พฤติกรรมใหม่ ค่อนข้างถาวร  โดยเป็นผลจากการฝึกฝนเมื่อได้รับการเสริมแรง  มิใช่เป็นผลมาจากการตอบสนองตามธรรมชาติที่เรียกว่าปฏิกิริยาสะท้อน ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ  แรงขับ สิ่งเร้า  ตอบสนอง  แรงเสริม กระบวนการเรียนรู้ 
-                   ความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเรียนรู้ คือ ความแตกต่างของแต่ละบุคคลหรือลักษณะเฉพาะตนในเรื่องการเรียนรู้
-                   ทฤษฏีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง คือ ทฤษฎีการเรียนรู้ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง แบ่งออกเป็น ทฤษฏีการวางเงื่อนไข ทฤษฏีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์  ทฤษฎีการเสริมแรงของฮัลล์
การถ่ายโยงการเรียนรู้  คือการที่บุคคลได้เรียนรู้อย่างหนึ่งมาก่อน  ซึ่งความรู้เดิมที่ได้เรียนรู้มาจะมีผลต่อการ
เรียนรู้ใหม่มีลักษณะ 3 ลักษณะ  เรียนรู้เชิงบวก  เชิงลบ และการรบกวน ทฤษฏีการถ่ายโยงความรู้มี 3 ทฤษฎีคือ  ทฤษฏีการถ่ายโยงโดยความคล้ายคลึง โดยการรับรู้ ความสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์โดยการสรุปความเหมือน
          แรงจูงใจ คือ การนำปัจจัยต่างๆที่เป็นแรงจูงใจมาผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมอย่างมีทิศทาง มี 2 แบบคือ แบ่งตามลักษณะการแสดงออกของพฤติกรรม  และแบ่งตามที่มาของแรงจูงใจ
          สุขภาพจิต  คือความสามารถของบุคคลที่จะปรับตัวและดำรงชีวิตให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขไม่มีความขัดแย้งภายในใจ ลักษณะของคนที่มีสุขภาพจิตดี
-                   เป็นคนที่สนใจผู้อื่น และตนเองได้
-                   เป็นคนที่มีจุดมุ่งหมายและแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม
-                   เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี
-                   เป็นคนที่นำประสบการณ์ในอดีตมาใช้ประโยชน์
-                   เป็นคนที่สามารถรับรู้ตรงกับความเป็นจริง และแก้ปัญหาต่างๆ
-                   เป็นคนที่มีเมตตากับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่ร่วมโลก


วิจารณ์หนังสือ

จิตวิทยาสร้างสรรค์การเรียนการสอน ครูผู้สอน  ผู้เรียน กับบทบาทใหม่ยุคไฮเทค ผู้เขียนพยามชี้ให้เห็นว่า การจัดการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำ มีส่วนร่วมอย่างจริงจังทั้งความคิด  จิตใจ สมอง  จะทำให้เกิดความประทับใจ  เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ  ซาบซึ้ง จดจำได้ดี  สามารถคิดได้กว้างไกล นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน นำไปสู่การคิดค้น และสร้างสรรค์งานใหม่ได้ การเรียนที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติร่วมทำกิจกรรม  ได้แสดงความสามารถทำให้ค้นพบความสามารถ เพียรพยายาม  อดทนและทำให้ผู้เรียนรู้สึกตื่นตา ตื่นใจ  กับการค้นพบด้วยตนเอง รู้สึกสนุกสนานกับการเรียน รู้สึกภาคภูมิใจในความสามารถจากผลงาน เกิดความรู้สึกมั่นใจในตนเอง  มีความสุขกับความสำเร็จ  เกิดกำลังใจ  ทำให้อยากเรียนอยากรู้ต่อไป  ทำให้เป็นคนกระตือรือร้นใฝ่รู้ใฝ่เรียนและศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น
          บทบาทของผู้เรียนจึงต้องเปลี่ยนไป ผู้เรียนต้องปรับวิธีเรียน  ปรับบทบาทจากผู้ที่เรียนคอยครูป้อน บอกความรู้ และสั่งให้ทำตาม  มาเป็นริเริ่ม ร่วมกัน  คิดก่อน  ทำก่อนและฝึกฝนด้วยตนเองจากพลังความสามารถในตน กลายเป็นผู้เรียนเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ  เปลี่ยนจากบทเรียนที่ว่า  เรียน รู้  มากกว่า เรียน ทำ  เรียน จดจำ  มากกว่า เรียน จัดการ เรียนรับ  มากกว่า เรียนให้  เรียนใช้  มากกว่า เรียนผลิต ทำให้เติบโตเป็นนักคิด นักปฏิบัติ และนักสร้างสรรค์ผลงานได้
          บทบาทของผู้สอนจึงต้องเปลี่ยนวิธีการสอนจากเดิม ครูเป็นผู้เอื้ออำนวยในการเรียนการสอน  จากสอนหนังสือมาเป็นสอนคนที่มีพลังความสามารถ ความคิด  จิตใจ  ซึ่งเป็นผู้เรียนยุคใหม่  ที่ผู้สอนควรเน้นให้เห็นว่า บทเรียน สิ่งที่เรียน  มีความหมาย  ความสำคัญต่อชีวิตผู้เรียน  และสอนให้สัมพันธ์กับสิ่งที่ประเมินค่า สิ่งที่เรียนมากกว่าจดจำเพียงอย่างเดียว  โดยไม่นำข้อมูลไปใช้และไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาความคิดในระดับที่สูงขึ้น คือการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์  และคิดประเมินค่า  ก็จะทำให้พัฒนาความสามารถของผู้เรียนยุคใหม่ได้เต็มศักยภาพ
          จิตวิทยาการเรียนการสอน  จึงมีความสำคัญและเป็นปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จของการจัดการศึกษา ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นและต่างก็เป็นผู้กระตุ้นและตอบสนองต่อการเรียนการสอนเป็นบรรยากาศที่มีอิสระ  อบอุ่น  ปลอดภัยเป็นกันเอง  ท้าทาย สำเร็จ  และเป็นการสื่อสารสองทา ง คือ ผู้สอนและผู้เรียนที่เน้นผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันไม่ใช่คนเก่งเท่านั้นที่ได้โอกาสมากกว่า  ผู้เรียนต่างร่วมกันคิด  แสดงความคิดเห็นอภิปราย  ซักถาม  ทำกิจกรรมร่วมกัน  มีการเสริมแรงจากผู้สอน  เพื่อนและตัวผู้เรียน  ผู้เรียนก็จะตื่นตัว  กระตือรือร้น  มีสมาธิ  มีความสนใจเพิ่มมากขึ้น  เพราะต้องเล่นบทผู้แสดง  ผู้ดู ผู้สังเกตการณ์สลับกันไป  และการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว  ไม่รู้สึกถึงความยากลำบากในการเรียนแต่กลับเรียนด้วยความกระตือรือร้น  สนใจและมีความสุข หรือเรียกว่า เพลิน” 
          จิตวิทยาการสร้างสรรค์การเรียนการสอน  เป็นการที่ผู้สอน ครู  ผู้ที่จัดการศึกษานำหลักการทางจิตวิทยามาใช้อย่างสร้างสรรค์ในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม  สอดคล้องกับผู้เรียน  เพื่อช่วยให้งานของครูผู้สอนทางด้านการศึกษาประสบความสำเร็จ  เพราะได้ทำหน้าที่ของตนบรรลุจุดมุ่งหมายและประการสำคัญเพื่อช่วยให้ผู้เรียน เรียนรู้ ตั้งใจเรียนรู้  ใส่ใจกับการเรียนรู้กล้าที่จะเรียนรู้  กล้าที่จะศึกษาค้นคว้าและพัฒนาตนเต็มศักยภาพ เรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน  มีความสุข  และเสริมสร้างคุณสมบัติที่ดีให้เกิดขึ้นกับ  ผู้เรียนยุคใหม่  เป็นคนดี  คนเก่ง  คนที่มีความสุข ในขณะเรียน  ทำงานและดำเนินชีวิตในครอบครัวและสังคม  ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังคงเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน และเรียนรู้ตลอดชีวิต  ผู้สอนที่สามารถสร้างสรรค์การเรียนรู้ก็จะดำเนินการสอนไปด้วยความราบรื่น  และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนและผู้สอน ผู้สอนก็จะเห็นความสามารถของผู้เรียน  มองเห็นความถนัด  มองเห็นรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน  ว่าสามารถทำได้จริง  ผู้สอนก็จะรู้สึกเข้าใจ รักนับถือและมีกำลังใจสอน ผู้เรียนก็ตระหนักถึงความสามารถของตน  ความพยายาม  ความตั้งใจ  ความร่วมมือและรู้สึกว่าการเรียนไม่ใช่เรื่องยาก  จะรู้สึกดีกับตนเอง มองเห็นคุณค่าในตนเอง  มีกำลังใจ  อยากรู้อยากเรียน
          เพื่อน  ผู้เรียนต่างก็ตระหนักถึงความสามารถของเพื่อนๆ ที่สามารถเรียนได้ ทำได้จริง ทำได้ตามความถนัดที่แตกต่างกัน ความร่วมมือ ความเอาจริงเอาจังก็จะทำให้เกิดความรัก  ความชื่นชมว่าเพื่อนๆ  เก่ง มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เมื่อผู้เรียน ผู้สอน  เพื่อนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ไว้วางใจ  รู้สึกปลอดภัย บรรยากาศอบอุ่นทำให้การปรับตัวของทั้งสองฝ่ายต่อสภาพแวดล้อมต่อการเรียนก็จะราบรื่นและเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
          ผู้เขียนเห็นว่าผู้สอนพึงเข้าใจธรรมชาติความต้องการของผู้เรียนและควรตอบสนองความต้องการและธรรมชาติ ดังต่อไปนี้
-                   ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ผู้สอนจะต้องสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้เกิดขึ้นกับ
ผู้เรียนให้ผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นระดับ ประถมศึกษา  มัธยมศึกษา อุดมศึกษา รู้สึกว่าตนเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับครู  รู้สึกว่าตนเป็นสมาชิก  เป็นบุคคลที่มีความสำคัญของผู้สอน  ของห้องเรียน  ของกลุ่ม  และได้รับการยอมรับจากครูไม่ว่าจะมาจากฐานะทางเศรษฐกิจเช่นไร ผู้สอนจึงไม่ควรดูถูก ตำหนิติเตียนแสดงความรังเกียจ ไม่ยอมรับ  ไม่มองสบตา ไม่ยอมพูดด้วย  และไม่ยอมรับฟังผู้เรียน  และทำตัวห่างเหินไม่คุ้นเคย  ไม่สนิทสนม  และถือว่าตนมีความรู้เหนือกว่าศิษย์ หงุดหงิด ถากหาง ไม่ยอมรับ  ไม่พอใจในผลงานและการกระทำของผู้เรียน และไม่ช่วยแก้ไขหรือชี้แนะ
-                   ความรัก ความเอาใจใส่ดูแล  ผู้สอนควรให้ความรัก ความเอาใจใส่ดูแลผู้เรียนเพราะความรักความเอา
ใจใส่ดูแลเป็นความต้องการทางจิตใจที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ และความรัก  ความเอาใจใส่จะทำให้เด็กเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจ  จากการทดลองเด็กในสถานกำพร้า  พบว่าการเลี้ยงดูทางกายที่เหมือนกันกับอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการดูแลทั้งทางกายและจิตใจยังส่งผลต่อน้ำหนักของเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่น้อยกว่าเพราะไม่ได้รับการเอาใจใส่ ไม่ได้รับความรัก  ดังนั้น ผู้เรียนที่ปราศจากความรักใคร่ เอาใจใส่ดูแลย่อมสูญเสียลักษณะสำคัญบางอย่างในตน เช่น ความรักตัวตนว่าเป็นไร การยอมรับตนเอง การรู้จักความมีคุณค่าในตนเองจะทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว  ว้าเหว่ ไม่สบายใจและขาดความกระตือรือร้น ขาดกลัวที่จะเผชิญ 
-                   ความอบอุ่นปลอดภัย  ผู้สอนควรให้ความอบอุ่น  ปลอดภัยแก่ผู้เรียนให้ผู้เรียนรู้สึกว่าตนปลอดภัยทั้ง
ทางกายและทางใจ ไม่ถูกหยิก ทุบตี  เฆี่ยนหรือลงโทษทางกาย ขณะเดียวกันก็ไม่ถูกตำหนิ จับผิด ว่ากล่าว ตักเตือนรุนแรง ถากถาง เยาะเย้ย  ดูถูกเหยียดหยามว่าต่ำต้อย  ไม่เท่าเทียมกับผู้สอน ผู้สอนจึงไม่ควรประเมินด้วยคะแนน จับผิดตลอดเวลา  โดยเฉพาะในช่วงการฝึกหัด  การประเมินว่าผิดถูกได้ตก บ่อยครั้งจะทำให้ผู้เรียนหวาดกลัว  กังวลใจและกระวนกระวานใจจนสมองไม่ปลอดโปร่งในการเรียนรู้ และมักทำอะไรผิดพลาด และการประเมินผลก็ทำได้หลายวิธี  เช่น  การสังเกตพฤติกรรม  การบันทึกความก้าวหน้าและการให้ผลย้อนกลับ
-                   ความเป็นอิสระ  ผู้สอนควรให้ความเป็นอิสระแก่ผู้เรียน เพราะเป็นความต้องการความอิสระจาก
บุคคลอื่นของผู้เรียน เราจะสังเกตพบว่าเด็ก เวลาผู้ใหญ่จูงมือยังไม่ชอบ คอยสะบัดมือและเดินเอง หรือสัตว์ที่เราจับใส่กรงขัง พอเปิดประตูก็จะรีบกระโจนออกอย่างรวดเร็ว
-                   ความมีคุณค่า  ผู้สอนควรแสดงให้ผู้เรียนรู้สึกว่าตนนั้นมีคุณค่า มีคำกล่าวว่า เด็กที่รู้ว่าตนเองมีคุณค่า ก็
พร้อมที่จะเพิ่มคุณค่าให้กับตนเอง ผู้สอน จึงต้องรู้จักผู้เรียนเป็นอย่างดี  รู้จักทั้งตัว  ทั้งสภาพแวดล้อมและต้องตอบสนองอย่างว่องไว ผู้สอนพึงสังเกตพฤติกรรมการพูด  การคิด การแสดงออก ความสามารถในกิจกรรมต่างๆ ที่เด็กได้มีส่วนร่วม และจงว่องไวที่จะให้ผลย้อนกลับ ในทางบวก การชมเชย การยอมรับ การแสดงความพอใจ ความซาบซึ้ง  ความชื่นชมต่อผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
          ฉะนั้นจิตวิทยาการเรียนการสอนนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของงานสอนและประสิทธิผลของผู้เรียน  หากผู้สอนหรือครูได้คำนึงถึงธรรมชาติความแตกต่างระหว่างบุคคลและความต้องการของผู้เรียนในฐานะที่เป็นมนุษย์ย่อมมีความต้องการพื้นฐานทางด้านจิตใจ  ทั้งในด้านความรัก ความอบอุ่นปลอดภัย  ความเป็นอิสระแห่งตน  ตลอดจนความรู้สึกว่าตนเองนั้นมีคุณค่า  การสร้างแรงจูงใจ โดยการสอนเป็นกลุ่มเดียว  จัดให้มีการแข่งขันกับตนเองกับกลุ่ม  การเสริมแรงแบบต่างๆ  รวมทั้งการชมเชย  การตำหนิอย่างสร้างสรรค์ การบอกผลย้อนกลับ  และการมีความคาดหวัง  การนำการลองผิดลองถูก  การฝึกหัด  การเลียนแบบ ซึ่งความรู้ในเรื่องดังกล่าวจะทำให้ผู้เรียนมีพลัง  มีกำลังใจ  มีความกล้าผจญภัยในการเรียนรู้  ค้นหา  พัฒนาความสามารถของตน  และการตอบสนองความต้องการดังกล่าว  ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  จะเป็นการส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างผู้เรียน ผู้สอน  บรรยากาศการเรียนการสอนจะเป็นไปด้วยดี  ราบรื่น  ผู้เรียนจะได้ให้ความร่วมมืออย่างดีและความสำเร็จของทั้งผู้เรียนและผู้สอนก็จะบรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษา  เพื่อให้เยาวชนเป็นคนเก่ง  คนดี  และคนที่มีความสุข เพื่อสร้างสรรค์ตนเองและสังคมประเทศชาติต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น