หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความเป็นมาของชาติไทย



ความเป็นมาของชาติไทย

ตามประวัติศาสตร์  ความเป็นมาของชาติไทย  ได้ทราบกันว่าชาติไทยเป็นชาติโบราณและชาติใหญ่ชาติหนึ่ง  มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง  ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีนปัจจุบัน  แล้วได้อพยพถอยร่นลงมาทางใต้ตามลำดับขณะที่อพยพถอยร่นลงมาเป็นเวลานับพันปี  และได้สร้างอาณาจักรปกครองตนเองมาแล้วหลายอาณาจักจนถึงอาณาจักรไทยปัจจุบัน

ถิ่นกำเนิด
เรื่องถิ่นกำเนิดของไทย  มีคนไทยปัจจุบันจำนวนไม่น้อย  ที่ยอมรับกันว่า  คนไทยมีถิ่นกำเนิดมาจากเทือกเขาอัลไต  ซึ่งอยู่ติดกับพรมแดนของรัสเซีย  แต่ก็ยังมีคนไทยจำนวนมากที่สงสัยในเรื่องนี้  ต่างออกไป
เมื่อศึกษาค้นคว้าจากความรู้ความเข้าใจของนักปราชญ์ทางด้านโบราณคดีและนักเขียนทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องกำเนิดของคนไทยนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันแล้ว  พอจะประมวลเป็นกลุ่มความเชื่อในเรื่องนี้มี  ๕  กลุ่ม  คือ

๑.  กลุ่มที่เชื่อว่า  ถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน
ความเชื่อนี้ก็คือ  เตเรียน  เอ  ลาคูเปอรี  (Terrien  ve  la  couperie)  ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษประจำมหาวิทยาลัยคอลเลจ  แห่งลอนดอน  ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ของอินโดจีน  งานเขียนของเขาคือ  The  cradle  of  tham  Race  ตีพิมพ์เมือปี  พ.ศ.  ๒๔๒๘  ซึ่งอาศัยการค้นคว้าจากหลักฐานจีน  และพิจารณาความคล้ายคลึงทางภาษาของผู้คนในจีนและเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้สรุปว่าคนเชื้อชาติไทย  ตั้งถิ่นฐานเป็นอาณาจักรอยู่ในดินแดนจีนมาก่อนจีน  คือเมื่อ  ๒๒๐๘  ปี  ก่อน  ค.ศ.  ชนชาติไทยได้ถูกระบุไว้ในรายงานสำรวจภูมิประเทศจีนในสมัยพระเจ้ายู้  จีนเรียกชนชาติไทยว่า  มุง  หรือต้ามุง  ถิ่นที่อยู่ของคนไทยที่ปรากฏในจดหมายเหตุนี้อยู่ในเขตที่เป็นมณฑลเสฉวนเวลานี้
งานของลาคูเปอรี  เป็นที่สนในของนักวิชาการไทยมาก  ความคิดของลาคูเปอรีได้รับการสืบทอดต่อมาในงานเขียนของนักวิชาการไทย  เช่น  งานเขียนของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  แสดงบรรยายพงศาวดารสยาม  ซึ่งทรงบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๖๗  และลักษณะการปกครองประเทศแต่โบราณ  ซึ่งจัดพิมพ์ปี  ๒๔๗๗  ทรงสรุปได้ว่า  ดินแดนแถบประเทศไทย  แต่เดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของพวก  ละว้า  มอญ  เขมร  คนไทยอยู่แถบธิเบตต่อจีน  (มณฑลเสฉวนปัจจุบัน)  ราว  พ.ศ.  ๕๐๐  ถูกจีนรุกราน  จึงอพยพมาอยู่ที่ยูนนานทางตอนใต้ของจีน  และแยกย้อยกันอยู่ตามทิศต่าง ๆ  ของยูนนาน  ทิศตะวันตกของยูนนาน  คือ  เงี้ยว  ฉาน  ทิศใต้ของยูนนานคือ  สิบสองจุไทย  ตอนล่างของยูนนาน  คือ  ลานนา  ลานช้าง
งานของประภาสิริ  หรือ  หลวงโกษากรวิจารณ์  (บุญสรี  ประภาสิริ)  ซึ่งใช้ความรู้ภาษาจีนค้นคว้าเรื่องถิ่นกำเนิดของไทย  ตลอดจนนำพงศาวดารและตำนานท้องถิ่นทางภาคเหนือของไทยมาวิเคราะห์งานเด่นของท่านคือ  วิเคราะห์เรื่องเมืองไทยเดิม  ภาคหนึ่งตีพิมพ์เมื่อ  ๒๔๗๘  ภาค  ๒  เมื่อ  ๒๔๙๐  และภาค  ๔  เมื่อ  ๒๔๙๒  และ  บทวิเคราะห์ถิ่นไทย  และเมืองเก่า   และสืบหาสยาม  ขณะที่จีนเร่ร่อนอยู่แถวทะเลสาบคัสเปียน  ไทยตั้งหลักฐานเป็นบ้านอยู่  ณ  บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง  และลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงแล้ว
อาณาจักรไทย  แย่งออกเป็น  ๒  นคร  คือ
นครลุง-เป็นธานีฝ่ายเหนือ  ตั้งอยู่บนแม่น้ำเหลืองนครปา-เป็นธานีฝ่ายตั้งอยู่ภาคเหนือตลอดมาถึงภาคตะวันตกของมณฑลเสฉวนปัจจุบันอาณาจักรไทยสมัยนี้เรียกว่า  อ้ายลาว  หรือมุง  (เป็นคำที่ชาติอื่นเรียก)
งานของพระยาอนุมานราชธน  เรื่อง  ของชนชาติไทย  เขียนเมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๘๓  จากการค้นคว้าในเรื่องของนักวิชาการก่อนหน้านั้น  ได้สรุปความเห็นไว้ว่า  ตอนกลางของประเทศจีนปัจจุบันในลุ่มน้ำแยงซีเกียง  ฝั่งซ้าย  ตั้งแต่มณฑลเสฉวน  ตลอดไปเกือบจรดทะเลตะวันออกเป็นที่อยู่ของไทยเดิม  ซึ่งม่งสืบเชื้อสายมาจนทุกวันนี้  ไทยเรียกตนเองว่า  อ้ายลาว  แต่จีนเรียกว่า  ต้ามุง  ซึ่งน่าจะหมายถึงพวกไทยเมือง  พวกนี้เจริญมาก่อนจีนเสียอีก
งานของพระยาบริหารเทพธานี  ซึ่งใช้เวลาศึกษาค้นคว้าเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทยตลอดจนประวัติศาสตร์ไทยสมัยต่าง ๆ  มาถึง  ๑๖  ปี  งานชิ้นนั้นคือ  พงศาวดารชาติไทย  ตลอดจนประวัติศาสตร์ไทยสมัยต่าง ๆ  มาถึง  ๑๖  ปี  งานชิ้นนั้นคือ  พงศาวดารชาติไทย  ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๙๖  สรุปไว้ว่าถิ่นไทยอยู่บริเวณตอนกลางของจีน  ต่อมาอพยพลงมาที่มณฑลยูนนานทางตอนใต้และค่อย ๆ  อพยพลงมาฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้  ยังมีงานของนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง  และมีบทบาทสำคัญในสังคมไทยอีกท่านหนึ่งคือ  หลวงวิจิตรวาทการ  ซึ่งพยายามค้นคว้าว่า  เรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทยโดยการศึกษาค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์เก่าทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทย  หลวงวิจิตรวาทการผลิตงานเขียนที่พูดถึงถิ่นกำเนิดของคนไทย  ๒  เล่ม  คือสยามกับสุวรรณภูมิ  เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๗๖  และงานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย  เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๙๙  ในงานทั้งสองให้ข้อสรุปถึงถิ่นกำเนิดของคนไทยว่าในดินแดนซึ่งเป็นมณฑลเสฉวน  ฮูเป  อันฮุย  และ  เกียงซี  ตอนกลางประเทศจีนปัจจุบันก่อนจีนอพยพเข้ามา  แล้วค่อย ๆ  อพยพมาสู่มณฑลยูนนาน  และแหลมอินโดจีน  การเคลื่อนที่ของชนชาติไทย  ๒  วิธี  วิธีหนึ่ง  คือ  การเคลื่อนย้ายเป็นส่วนตัวโดยการแทรกซึมลงมา  อีกวิธีหนึ่ง  คือ  การอพยพใหญ่

๒.  กลุ่มที่เชื่อว่า  ถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต
ผู้ต้นคิดในเรื่องนี้  คือหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน  ชื่อ  วิลเลี่ยม  คลิฟตัน  ด็อต  (William  Clifton  Dodd)  ในงานเขียนเกี่ยวกับคนไทย  The  Thai  Race,  The  Elder  Brother  of  the  Chinese  เมื่อ  ปี  พ.ศ.๒๔๒๕
งานชิ้นนี้เขียนในระหว่างปฏิบัติงานเผยแพร่คริสต์ศาสนาแก่คนไทยในประเทศไทย  พม่า  และจีน  โดยเฉพาะในประเทศไทย  หมอด็อด  อยู่ประจำที่จังหวัดเชียงราย  ประมาณ  ๓๒  ปี  (พ.ศ.  ๒๔๒๙-๒๔๖๑)  ระหว่างนั้นได้เดินทางไปสำรวจวามเป็นอยู่ของชาติต่าง ๆ  ในดินแดนใกล้เคียง  พร้อมทั้งเผยแพร่ศาสนาด้วย  โดยเริ่มจากเชียงราย  ผ่านเชียงตุง  สิบสองปันนา  ยูนนาน  ไปถึงฝั่งทะเลกวางตุง  หมอด็อด  เขียนไว้ว่า  ไทยเป็นเชื้อสายมองโกล  และเป็นชาติเก่าแก่กว่าฮิบรู  และจีน  เสียอีก  คนไทยถูกเรียกว่า  อ้ายลาว  หรือ  ต้ามุง  และเป็นเจ้าของถิ่นเดิมของจีนมาก่อน  ตั้งแต่  ๒,๒๐๐  ปี  ก่อนคริสตศักราช  ฉะนั้นจึงเป็นพี่อ้ายของจีน  ถิ่นเดิมของคนไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต
แต่ต่อมาเคลื่อนที่เรื่อย ๆ  จากทางเหนือเข้าแดนจีน  และค่อย ๆ  อพยพครั้งใหญ่นับตั้งแต่แรกเริ่มในคริสตศักราชที่  ๖  ก่อนคริสตศักราช  คือจากตอนกลางของจีนมาสู่ตอนใต้  จากตอนใต้เข้าสู่อินโดจีน  ในบริเวณตอนใต้ลุ่มแม่น้ำแยงซีนั้นหมอด็อดเดินทางสำรวจเรียบร้อยแล้วทั้งสิ้น  แต่ในส่วนเหนือจากนั้น  หมอด็อดอาศัยความคล้ายคลึงทางภาษาเป็นเหตุผลสนับสนุน
ความคิดของหมอด็อดเป็นที่น่าสนใจในวงการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ  เช่น  งานของ  W.A.R.WOOD  ในงานเรื่อง  A History  of  Liam  ตีพิมพ์เมื่อ  ๒๕๖  ก็ได้นำความคิดของหมอด็อดไปขยายและระบุไว้ว่า  ถิ่นเดิมของไทยอยู่ในมองโกเลีย
นักวิชาการไทยคนสำคัญที่เป็นผู้สืบต่อความคิดของหมอด็อด  คือ  ขุนวิจิตรมาตรา  (รองอำมาตย์โทสง่า  กาญจนาคพันธ์)  ในงานเรื่องหลักไทย  ซึ่งเป็นหนังสือแต่งทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับพระราชทานรางวัลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  กับประกาศนียบัตรวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภา  ใน  พ.ศ.  ๒๔๓๗  ในหลักไทย  สรุปไว้ว่า  แหล่งเดิมของคนไทยอยู่บริเวณภูเขาอัลไต  ซึ่งเป็นบ่อเกิดของพวกมองโกลด้วยกัน  ภายหลังได้แยกมาตั้งภูมิลำเนาใหญ่ในระหว่างลุ่มแม่น้ำเหลือง  และ  แม่น้ำแยงซีเกียง  เรียกว่า  อาณาจักรอ้ายลาว  มีนครลุง  นครปา  และนครเงี้ยวเป็นราชธานี
เมือจีนอพยพจากทะเลสาบคัสเปียนก็ได้พบไทยเป็นชาติทียิ่งใหญ่แล้ว  ในราวปี  พ.ศ.  ๓๐๐  ก่อนพุทธศักราชไทยเริ่มถูกจีนรุกราน  ต้องถอยร่นลงมาทางภาคใต้  จวบจนประมาณ  พ.ศ.  ๑๔๐๐  ได้ก่อตั้งอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นที่ยูนนาน  อาณาจักน่านเจ้าในสมัยพระเจ้าพีล่อโก๊ะ  (หรือขุนบรม  ตามพงศาวดารล้านช้าง)  สามารถขยายอาณาเขตเข้ามาถึงแคว้นสิบสองจุไทย  หลวงพระบาง  และบริเวณภาคเหนือของไทย  ได้ก่อตั้งอาณาจักโยนก  ในบริเวณสุวรรณภูมิซึ่งเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของพวกละว้า  เขมร  และมอญ  มาก่อนใน  พ.ศ.  ๑๓๐๐  พงศาวดารจีนระบุว่าอาณาจักรน่านเจ้าได้แยกตนเองเป็นแคว้นต่าง ๆ  คือ  โกสัมพี  (แสนหวี)  จุฬนี  (ตั้งเกี๋ย)  ไพสาลี  หรือมณีปุระ  (อัสสัม)  และโยนก  เชียงแสน  จวบจน  พ.ศ.  ๑๗๗๘  พระเจ้ากุบไบลซ่าน  เจ้าโจมตีน่านเจ้าแตก  คนไทยที่น่านเจ้าอพยพลงมาสมทบกับพวกแรก  บริเวณสุวรรณภูมิ
เมื่อเหตุผลของทฤษี  เทือกเขาอัลไต  ที่ปรากฏในชาติไทย  และหลักไทย  เพราะคำว่า  อัลไต  มีคำว่า  ไต  อยู่ทำให้นักวิชาการไทยทั้งหลาย  นำปัญหานี้ไปพิจารณา  เช่น  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ซึ่งทรงเป็นกรรมการในการพิจารณาหนังสือไทย  ทรงมีความเห็นว่าข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับอัลไต  ของขุนวิจิตรมาตรายังมีปัญหาต่อความเชื่อถืออย่างมาก  หรือแม้แต่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  (น.ม.ส.)  ซึ่งเป็นกรรมการของราชบัณฑิตยสถาน  ในการตรวจหนังสือเล่มนี้  ยังให้ทรรศนะว่า  ตัวท่านเอง  ยังต้องใช้เวลาค้นหนังสือประวัติศาสตร์เกือบสิบเล่ม  เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้  และเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาอยู่  เพราะเป็นความเห็นที่ต่างไปจากนักประวัติศาสตร์อาชีพที่สังวคมวิทยายกย่องอยู่เช่น  ศาสตราจารย์  ยอร์ช  เซเดส์   พระวรวงศ์เธอเจ้าธานีนิวัต  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  และสมเด็จพระนริศรานุวัติวงศ์  เป็นต้น  มีแต่หลวงโกษากรวิจารณ์  หรือประภาสิริ  ซึ่งเป็นนักค้นคว้าที่มีความรู้ภาษาจีน  ภาษาไทย  และภาษาอังกฤษอย่างดี  ก็ได้ให้ความเห็นสนับสนุนในเรื่องนี้ว่า  เท่าที่เข้าใจว่า  ถิ่นเดิมของคนไทยอยู่เทือกเขาอัลไต  นอกจากจะให้เหตุผลว่า  เพราะมีภาษาเป็นเค้าเดียวกับไทยแล้ว  ก็ยังมีเหตุผลอย่างอื่นอีก  หลวงโกษากรวิจารณ์  ได้แปลความหมายคำว่า  อัลไต  ว่า  อัล  หมายถึงอะเลอ  ซึ่งเป็นภาษาไทยโบราณ  แปลว่าแผ่นดิน  คำว่า  ไต  ก็คือ  ไทย  ฉะนั้น  ที่ตรงนั้นหมายความว่า  เป็นที่ไท  อยู่มากเป็นแผ่นดินของไท

๓.  กลุ่มที่เชื่อว่า  คนไทยมีถิ่นกำเนิดยู่กระจัดกระจายทั่วไปในบริเวณทางตอนใต้ของจีน  และทางตอนเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ตลอดจนบริเวณรัฐอัสสัมของอินเดีย
ผู้ริเริ่มความเชื่อนี้คือ  Archibal  R.  colquhun  ซึ่งเป็นนักสำรวจชาวอังกฤษได้เดินทางสำรวจดินแดนตั้งแต่ทางภาคใต้ของจีน  จากกวางตุ้งไปยังเมืองมัณฑเลย์  ในพม่า  ผลจากการสำรวจของเขาปรากฏเป็นหนังสือชื่อ  chryse  ซึ่งเล่าการเดินทางสำรวจดินแดนดังกล่าวของเขาและได้เขียนรายงานไว้ว่าได้พบคนเชื่อชาติไทยในบริเวณแถบนี้โดยตลอด  งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ที่อังกฤษเมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๒๘  และผู้เขียนได้รับรางวัล  The  Royal  Geographical  Society  ต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้มีการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส  และภาษาเยอรมัน
โดยสรุป  ในบรรดากลุ่มนักวิชาการที่เชื่อว่าอดีตของเผ่าไทยอยู่กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณตอนใต้ของจีน  และบริเวณทางเหนือของไทย  ลาว  พม่า  เวียดนาม  กัมพูชา  และรัฐอัสสัมของอินเดียนั้น  ต่างก็มีทรรศนะที่ต่างกันออกไปในรายละเอียด  โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับอาณาจักรน่านเจ้า  งานของเปลลิโอ  มัสเปอโร  เฟรเออริกโมต  และจิต  ภูมิศักดิ์  เป็นงานที่ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่า  น่านเจ้ามิใช่อาณาจักรของคนไทย  นักวิชาการกลุ่มนี้  เริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของคนไทย  โดยอาศัยหลักฐานหลายด้านด้วยกัน  ทั้งทางด้านนิรุกติศาสตร์  มานุษยวิทยา  หลักฐานทางประวัติศาสตร์  ตลอดจนหลักฐานทางโบราณคดี  ซึ่งเป็นก้าวใหม่ของการศึกษาปัญหานี้  จากที่เคยทำมา  ความเห็นของนักวิชาการกลุ่มนี้ได้รับการอ้างอิงทางวิชาการต่อ ๆ  มา  เช่นในงานเขียนเรื่องประวัติสังคมไทยโบราณก่อนศตวรรษที่  ๒๕  ของ  ชัย  เรืองศิลป์  ศึกษาค้นคว้าในระหว่าง  ๒๕๐๖-๑๐  และเขียนขึ้นเมื่อปี  พ.ศ.๒๕๑๑  และได้รับรางวับชมเชยเป็นกรณีพิเศษจากการประกวดวรรณกรรมไทยครั้งที่  ๑  ของธนาคารกรุงเทพฯ  เมื่อ  พ.ศ.  ๒๓๑๓  แต่หนังสือนี้ได้มีการตีพิมพ์แพร่หลายเมื่อ  พ.ศ.๒๕๒๓

๔.  กลุ่มที่เชื่อว่า  ถิ่นเดิมของไทยอยู่บริเวณเนื้อที่ประเทศไทยปัจจุบัน
ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีใหม่ที่ได้รับกาค้นคว้าจากบรรดานักวิชาการ  และแพร่หลายไม่นานมานี้  งานขั้นแรกในกลุ่มนี้คือ  งานของ  พอล  เบเนดิคท์  (Paul  Benedict)  นักภาษาศาสตร์และนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน  ซึ่งทำการค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับเผ่าไทยโดยอาศัยหลักฐานทางภาษาศาสตร์  และสันนิษฐานว่า  คนที่อยู่แถบแหลมอินโดจีน  ย่อมมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน  และยอมรับว่า  ภาษาไทย  เป็นภาษาที่ใหญ่ภาษาหนึ่ง  ภาษาของชนชาติทางเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  อยู่ในตระกูลอัสตริค  หรือออสโตรนีเชียน  และสามารถแยกสาขาได้เป็นพวกไทย-ชวา-มลายู-ธิเบต-พม่า  สมมติฐานใหม่ของ  เบเนดิคท์  นี้จะลบล้างความเชื่อที่ว่า  คนเผ่าไทย  เป็นชนชาติตระกูลมองโกล  แต่กลับเป็นชนชาติตระกูลเดียวกับชวามลายู
ส่วนเกี่ยวกับถิ่นเดิมของไทย  เบเนดิคท์  ให้ทัศนะว่า  น่าจะอยู่ในดินแดนไทยปัจจุบันในราวประมาณ  ๔,๐๐๐-๓,๕๐๐  ปีมาแล้ว  มีพวกตระกูลมอญเขมรอพยพมาจากอินเดียเข้าสู่แหลมอินโดจีน  ได้ผลักดันให้คนไทยกระจัดกระจายไปหลายทาง  ขึ้นไปทางใต้ของจีนปัจจุบัน  ต่อมาถูกผลักดันจึงถอยร่นลงใต้  ไปอยู่ในเขตอัสสัม  ฉาน  ลาว  ไทย  และตังเกี๋ย  จึงมีกลุ่มชนที่พูดภาษาไทยกระจัดกระจายไปทั่ว
นักวิชาการในกลุ่มนี้  ที่ชี้ชัดให้เห็นว่าคนไทยอยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน  มักเป็นนักวิชาการทางด้านโบราณคดี  หรือสนใจทางด้านโบราณคดี  เช่น  ดร.ควอริช  เวลส์  ซึ่งให้ทรรศนะว่า  กลุ่มคนไทย  มาตั้งหลักฐานอยู่แล้วตามกลุ่มแม่น้ำแม่กลอง  และบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษต้น ๆ  ทรรศนะเช่นนี้มาจากการขุดพบกะโหลกศีรษะที่พงตึก  จ.ราชบุรี  เวลส์  แสดงความเห็นนี้ในงานเขียนของเขาเมื่อปี  พ.ศ.  ๒๔๗๙  แต่ต่อมาเขาก็เปลี่ยนความคิดว่า
นักวิชาการที่มีชื่อเสียงในกลุ่มนี้คือ  นายแพทย์สุด  แสงวิเชียร  แห่งแผนกกายวิภาคศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์สิริราชพยาบาล  ได้ให้ความเห็นว่า  ดินแดนไทย  ปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่ชนที่เห็นพรรพบุรุษของคนไทยปัจจุบันมาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์   ข้อสันนิษฐานของท่านอาศัยการศึกษาเปรียบเทียบโครงกระดูกมนุษย์สมัยหินใหม่  ๓๗  โครง  ซึ่งคณะสำรวจไทย  เดนมาร์ค  ได้ร่วมกันขุดค้นได้บริเวณสองฝั่งแควน้อย  และแควใหญ่  จังหวัดกาญจนบุรี  ในระหว่างพ.ศ.  ๒๕๐๓-๒๕๐๕  จากการศึกษาเปรียบเทียบท่านได้สรุปว่า  โครงกระดูกของคนสมัยใหม่มีความเหมือนกับโครงกระดูกคนไทยปัจจุบันเกือบทุก ๆ  อย่าง  ข้อเสนอนี้นายซอบ์ไฮม์เห็นด้วย
นอกจากนี้  ยังมีงานของ  ดร.คาลตัน  เอส  คูน  (Carlton  S.coon)  ซึ่งสืบค้นเรื่องนี้และให้ความเห็นว่า  ระหว่าง  ๑,๕๓๐  ปี  ก่อน  ค.ศ.  นั้น  มีร่องรอยพวกคนสมัยหินใหม่ในประเทศไทยและยังมีงานของศาสตราจารย์  ชิน  อยู่ดี  ในเรื่อง  สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย  ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในปี  ๒๕๑๐  ก็สรุปได้ว่า  จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าในบริเวณเนื้อที่ประเทศไทยปัจจุบัน  มีร่องรอยผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยหินเก่า  คือระหว่าง  ๕๐๐,๐๐๐  ปีถึง  ๑๐,๐๐๐  ปี  มาแล้ว  เรื่อยมาจนกระทั้งสมัยหินกลาง  หินใหม่ยุคดลหะ  และข้าสู่ประวัติศาสตร์ในยุคดังกล่าวเหล่านี้  ยังเห็นถึงความสืบเนื่องทางวัฒนธรรมที่มีมาจนถึงปัจจุบันด้วย

๕.  กลุ่มที่เชื่อว่า  ถิ่นเดิมของคนไทยอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู  และหมู่เกาะต่าง ๆ  ในอินโดนีเซีย  และค่อย ๆ  อพยพขึ้นมาสู่ดินแดนไทยปัจจุบัน
ทฤษฎีมีการเสนอขึ้น  เมื่อประมาณปี  พ.ศ.  ๒๕๐๖  ที่สยามสมาคม  ผู้เสนอคือนายสมศักดิ์  สุวรรณสมบูรณ์  โดยอาศัยความรู้วิชาแพทย์ศาสตร์ทางด้านกลุ่มเลือด  (Blood  group)  และจากการสุ่มตัวอย่างกลุ่มเลือดของคนไทยกับคนอินโดนีเซียปัจจุบัน  จึงได้เสนอว่า  เพราะความละม้ายคลายคลึงกันทางกลุ่มเลือดระหว่างคนไทยที่โรงพยาบาลสิริราชกับคนอินโดนีเซีย  ฉะนั้น  คนไทยน่าจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่เกาะ  แล้วจากหมู่เกาะต่าง ๆ  อพยพขึ้นมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยาบ้าง  เลยเข้าไปถึงทางบริเวณมณฑลยูนนานของจีนบ้าง
อย่างไรก็ตาม  ทฤษฎีนี้  ก็ยังมีปัญหาอยู่มากทีเดียว  โดยเฉพาะถ้าหากจะศึกษาถึงสภาพตามภูมิศาสตร์  หมู่เกาะซึ่งเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว  จึงไม่น่าจะมีเหตุผลใด ๆ  ที่ทำให้คนไทยต้องอพยพจากแหล่งอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว  เข้ามาอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและจีนตอนใต้
ทฤษฎีที่ได้รับการเชื่อถือมากที่สุด-อดีต-ปัจจุบัน  อาจกล่าวได้ว่า  นับตั้งแต่รัชกาลที่  ๕  เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงประมาณ  พ.ศ.  ๒๕๐๐  มีอยู่  ๒  ทฤษฎี  ที่ได้รับการยอมรับในสังคมมากที่สุดคือ
๑.  กลุ่มที่เชื่อว่า  ถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน  และ
๒.  กลุ่มที่เชื่อว่า  ถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต[1]

ความเชื่อถือ
ในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อของคนไทยนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีอยู่ในทุกลักษณะแต่ที่ถือว่าเป็นลักษณะที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
๑.  ลักษณะแบบวิญญาณนิยม  ความเชื่อแบบวิญญาณนิยมคือเชื่อถือและเข้าใจว่า  สิ่งที่ตนนับถือนั้น  มีวิญญาณนี้สามารถที่จะให้คุณและโทษแก่มนุษย์ได้  ลักษณะความเชื่อถือชนิดนี้ฝังแน่นอยู่ในจิตของคนไทยมาช้านานแล้ว  สันนิษฐานว่าอาจเป็นความเชื่อถือดั้งเดิมของคนไทย  หรือได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์  ดังจะเห็นได้จากการปฏิบัติหรือการแสดงออกที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยังเคารพบูชา  จอมปลวก  ต้นไม้ใหญ่  หินผา  แม่น้ำ  ลำธาร  พระอาทิตย์  พระจันทร์  เป็นต้น
๒.  ลักษณะแบบชะตานิยม  คนไทยส่วนใหญ่จะนับถือพระพุทธศาสนา  และพระพุทธศาสนาจะสอนว่า  สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามอำนาจของกรรม  แต่ก็ยังมีชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนามีจำนวนไม่น้อยที่มีความเชื่อถือในลักษณะชะตานิยม  คือเชื่อถือในเรื่องโชคชะตา  ดังจะเห็นได้จากคนไทยนิยมไปหาหมอดูให้ทำนายทายทักโชคชะตาราศี  ให้รดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์  ผูกดวง  ทรงเจ้าเป็นต้น  คนที่มีความเชื่อถือลักษณะชะตานิยมนี้มีตั้งแต่ผู้ไม่มีการศึกษาไปจนถึงผู้มีการศึกษาสูง
๓.  ลักษณะแบบจิตนิยม  คือเชื่อถือในความมีอยู่ของจิต  หรือวิญญาณว่า  เป็นสิ่งนิรันดร  และสามารถดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระจากร่างกายได้  จะเห็นได้จากการแสดงออกในเรื่องการเซ่นสังเวยดวงวิญญาณบรรพบุรุษการทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว  เป็นต้น
๔.  ลักษณะธรรมชาตินิยม  คือหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาจะมีลักษณะเป็นธรรมชาตินิยม  ได้เชื่อถือว่า  มนุษย์มีส่วนสำคัญอยู่สองส่วนคือ  กายกับจิต  หรือรูปกับนาม  ซึ่งมีอยู่ในลักษณะเป็นส่วนประกอบที่มาประชุมกันเข้า  ตัวตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายไม่มี  ดั้งนั้นจึงไม่มีจิตที่เป็นอมตะเหมือนที่จิตนิยมเชื่อตามทัศนะของพระพุทธศาสนา  ตราบใดที่ยังกระทำกรรมจิตก็จะเกิด-ดับ  อยู่เช่นนี้ตลอดไป  ตามอำนาจของกรรม  ต่อไปเรื่อย ๆ  ต่อเมื่อหมดกรรมจิตจึงจะไม่เกิดขึ้นอีก
๕.  ลักษณะแบบกรรมนิยม  ความเชื่อเรื่องกรรม  ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา  คำสอนเกี่ยวกับเรื่องกรรมที่ปรากฏในพระสูตรมีว่า  หญิง  ชาย  คฤหัสถ์  บรรพชิต  ควรพิจารณาเนื่อง ๆ  ว่า  เรามีกรรมเป็นของคนเอง  เป็นผู้รับผลของกรรม  มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึงอาศัย  เราทำกรรมอันใดไว้  ดีก็ตาม  ชั่วก็ตาม  เราจะได้รับผลของกรรมนั้น  (พระไตรปิฎกเล่มที่  ๑๔  หน้า  ๕๗๙)
๖.  ลักษณะแบบความเชื่อนรกสวรรค์  ความเชื่อในเรื่องนรกสวรรค์จะมีปรากฏแทรกอยู่ในคำสอนของศาสนา  ในคัมภีร์พระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงนรกสวรรค์ไว้  ๓  ระดับ  คือ  นรกสวรรค์ในชาติหน้า  หมายถึงนรกสวรรค์หลังจาชาตินี้ไปแล้ว  คือถ้าทำกรรมดีไว้  เมื่อตายไปก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์  เมื่อเขาทำชั่วก็จะไปตกนรก  นรกสวรรค์ที่มีอยู่ในใจของเรา  ซึ่งเป็นเรื่องของชีวิตในชาตินี้  และนรกสวรรค์ในชาติหน้าก็สืบเนื่องไปจากชาตินี้  เพราะขึ้นอยู่กับสภาพของจิต  ระดับจิตของเราอยู่แค่ไหน  เวลาตายมันก็จะอยู่ในระดับนั้น  กล่าวคือ  ถ้าเราทำกรรมชั่วเรารู้สึกเดือดร้อนใจ  กังวลในเป็นทุกข์ก็เป็นสภาพจิตที่เป็นนรก  ตายไปก็ตกนรก  ถ้าเราทำกรรมดีก็เกิดความปราโมทย์มีความสุข  จิตอยู่ในระดับสวรรค์  ตายไปก็ไปเกิดที่สวรรค์เป็นต้น  นรกสวรรค์ที่เราปรุงแต่งของเราเองตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน  ตราบใดที่เรายังไม่เข้าในสัจธรรมหรือบรรลุสัจธรรม  เราก็ยังปรุงแต่งสร้างนรกสวรรค์กันอยู่ตลอดเวลาด้วยอายตนะของเราเอง  คือ  ทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  และพอใจที่เราได้รับจากรูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  และธรรมชาติที่เราชอบใจเราก็มีความสุข  ถ้าเราไม่ชอบ  ไม่พอใจก็เป็นทุกข์  นรกสวรรค์ก็เกิดขึ้นกับเราเอง

แนวความคิดที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
หลักแนวความคิดหรือหลักปรัชญาของไทย  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ที่ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงเกิดจากอิทธิพลหลายประการพอจะสรุปได้ดังนี้
๑.  สภาพสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์  มนุษย์อาจมีแนวความคิด  หรือหลักความเชื่อแตกต่างกันตามสภาพสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์  เช่น  กลุ่มที่มีภูมิลำเนาอยู่  แถบที่ราบสูงหรือภูเขา  มักจะมีความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ  และเชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจ  ใช้ชีวิตทางไสยศาสตร์ในการแก้ปัญหาชีวิต  เมื่อมีการอพยพอาศัยอยู่ถิ่นอื่นก็ได้รับอิทธิพลความเชื่อจากเจ้าของถิ่นเป็นต้น
๒.  มรดกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม  ยังมีแนวความคิดของคนไทยอีกส่วนหนึ่ง  เป็นแบบความคิดดั้งเดิมได้แก่  ความรักเสรีภาพความรักสงบ  ความรักในสายเลือดหรือพวกพ้อง  และความคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต  ซึ่งได้ถูกถ่ายทอดมาได้รักษาไว้จนถึงปัจจุบัน
๓.  อิทธิพลอารยะธรรมของจีน  อันเนื่องจากชนชาติไทยเคยอยู่อาศัยในดินแดนที่เป็นประเทศจีนในปัจจุบัน  และจีนได้แทรกแซงทางสังคม  ทำให้เกิดทั้งความกลมกลืนและขัดแย้ง  มีการยอมรับวัฒนธรรมของกันและกัน  แต่ยังมีการขัดแย้งกันด้านการปกครองและการประกอบอาชีพเป็นต้น  ทำให้คนไทยบางกลุ่มทนไม่ได้ต้องถอยร่นลงมา  ในสมัยต่อมาคนจีนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย  และมีการผสมกลมกลืนทางด้านวัฒนธรรมกันยิ่งขึ้น
๔.  อิทธิพลอารยะธรรมอินเดีย  เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาได้เข้ามาเผยแผ่ในดินแดนสุวรรณภูมิ  และขณะที่ไทยอยู่ทางตอนใต้ของจีนก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว  ด้วยเหตุนี้คติธรรมทางพระพุทธศาสนาจึงผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมไทยดั่งเดิม
๕.  อิทธิพลอารยะธรรม  เนื่องจากขอมเป็นผู้มีอิทธิพลและเป็นเจ้าของถิ่นเดิมในดินแดนแถบนี้มาก่อน  จึงมีการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม  ภาษา  การปกครองและพิธีกรรมต่าง ๆ  ของคนไทย  เป็นต้น
๖.  อิทธิพลอารยะธรรมของชาติตะวันตก  ไทยได้รับอารยะธรรมของชาติตะวันตกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา  สมัยต่อมาคนไทยได้ไปศึกษาในประเทศตะวันตก  และในขณะเดียวกันคนชาติตะวันตกก็ได้เข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยมากขึ้น  การยอมรับความคิดทางตะวันตกก็มีมากขึ้น  ทำให้สังคมของไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
อาศัยอิทธิพลดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้เกิดแนวความคิดแบบไทย  ซึ่งมีการพัฒนามาตามลำดับ  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ปรัชญาไทยหรือหลักความเชื่อแบบไทย  จึงได้เกิดขึ้น  จากการผสมกลมกลืนระหว่างแนวความคิดของไทยแท้ ๆ  กับแนวความคิดของชาติอื่น ๆ  จากการผสมกลมกลืนในแนวความคิดดังกล่าวปรัชญาไทยหรือหลักความเชื่อแบบไทยจึงไม่ยึดหลักสุดโต่ง  คือไม่นิยมขวาสุดไม่นิยมซ้ายสุด  แต่จะอยู่ระหว่างกลาง  คือเป็นแบบจิตนิยมผสมกับสสารนิยม  พฤติกรรมของคนไทยที่แสดงออกไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคล  สังคม  และการเมือง  เป็นต้น  จะเป็นไปในแนวความคิดแบบไทยหรือปรัชญาไทยในโอกาสต่อไป.


[1] วิธาน  ชีวคุปต์,  สนธิ์  บางยี่ขัน,  ปรัชญาไทย.  หน้า  ๙-๑๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น